Monday 19 September 2011

อันตรายจากผงชูรส

อันตรายจากผงชูรส






เมื่อวานได้ไปทานอาหารที่หลังสวน ชุมพร ตั้งใจไปทานอาหารที่ร้านที่ต้องแวะเป็นประจำหากต้องไปชุมพร ชอบบรรยากาศ และอาหารอร่อย ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทุกครั้งจะสั่งเอ็นหอยผัดฉ่า และผัดผัก ไม่เคยสั่งยำ หรือต้มยำ หรือที่เป็นน้ำแกง แต่ครั้งนี้สั่งต้มยำ แต่ลืมบอกเขาไปว่าไม่ใส่ผงชูรส  เพราะเป็นความรู้สึกไว้ใจในชื่อเสียงของสถานที่ แต่ลืมคิดไปว่าบางครั้งคนซื้อผงชูรส อาจไม่ระวัง หรือไม่รู้ไม่คิด คนทานจึงควรต้องระวังเอง ต่อไปก็จะไม่ไว้ใจอีก พลาดจนได้ ! 

 ทานต้มยำจนหมดเกลี้ยง เพราะน้ำแกงอร่อย เมื่อทานเสร็จประมาณครึ่งชั่วโมงก็เดินทางต่อ กลับออกมาแค่ปากทางรู้สึกหวิวๆใจสั่นเพลียทันที ตามนิสัยของนักวิทย์ ผู้สอนวิชาพิษวิทยาไล่หาสาเหตุทันที ตอนแรกคิดว่าเป็นน้ำหญ้าหวานที่ทดลองชิม เพราะยังหวานติดปาก เลยทานน้ำชาลงไป พอหมดความหวานในปาก นึกออกทันที ว่าเป็นอาการแพ้ผงชูรสนั่นเอง ครั้งนี้ไม่ไช่ผงชูรสปลอม เพราะไม่เมื่อยตัว และหายใจช่วงอกเป็นปกติ แต่เพลียใจสั่นไม่มีแรงพูดเท่านั้น  หลังจากนั้นประมาณ  1 ชั่วโมงก็ถ่ายท้อง ก็เป็นเพราะทานผงชูรสมากเกินไปหรือไม่ก็ผงชูรสมีสารปลอมปนผสมอยู่ เป็นอาการที่หากเราสังเกตตัวเองก็รู้ไม่ต้องตกใจ meepole ก็แก้ไขตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หนามยอกก็เอาหนามบ่ง ภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมงมันก็หมดฤทธิ์ เราก็มีแรงโม้ต่อ หุ หุ เจอมากะตัวเองแล้ว ก็เลยค้นเรื่อง "ผงชูรส" มาเขียนให้รู้เขารู้เราเอาไว้ จะได้ระวัง และหากไม่ทานเลยได้ยิ่งดี

ผงชูรสมีการขายในเชิงพาณิชย์ครั้งแรกภายใต้ชื่อการค้าเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า อายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่งเรารู้จักกันดี ผลิตโดยใช้วิธีการย่อยแป้งด้วยกรดเพื่อให้ได้กรดอะมิโนแล้วจึงแยกกลูตาเมตออกมาภายหลัง

สารชูรสที่ใช้กันมานานได้แก่ กรดกลูตามิกและเกลือของมัน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่พบได้ในอาหารหลายชนิดในธรรมชาติ มีรายงานว่าการรับประทานสารชูรสในกลุ่มกรดกลูตามิกอาจก่อให้เกิดอาการภัตตาคารจีน (Chinese Restaurant Syndrome; CRS) ในผู้บริโภคบางกลุ่มได้  โดยจะมีอาการชาและร้อนวูบวาบที่ปากลิ้นใบหน้า ต้นคอ หน้าอก บางคนมีผื่นแดงเกิดขึ้นตามตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ทั้งนี้สารชูรสกลุ่มกรดกลูตามิกเป็นวัตถุเจือปนอาหารควบคุมในหลายประเทศ อันนี้ก็ไม่คุมในไทยค่ะ หุ หุ

ผงชูรสแท้ผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง หรือจากกากน้ำตาล ลักษณะของผงชูรสจะเป็นเกล็ดหรือผลึกสีขาวขุ่นรูปร่างเหมือนกระดูก ไม่มีความวาวแบบสะท้อนแสง มีวัตถุเจือปนอาหารหลายชนิดที่ใช้เป็นผงชูรส เช่น กรดกลูตามิกและเกลือของมัน กรด Inosinic และเกลือของมัน กรดอะมิโนและเกลือของมัน เป็นต้นส่วนผงชูรสที่ใช้วัตถุอื่นปลอมปนนั้น วัตถุบางชนิดไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเช่น ใช้เกลือ น้ำตาล แป้ง ชึ่งมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กเป็นเม็ด หรือเป็นผงปลอมปนเข้าไป  สารปลอมปนเหล่านั้นเป็นอันตรายมากแน่นอนค่ะ

ตอนหน้ามาดูกันค่ะว่า สารปลอมปนอะไรที่ใส่กันลงไป แล้วทำให้มีอันตรายและอาการต่างๆ และแน่นอนอาการเหล่านั้นหลายอย่างเราไม่คาดคิดเลยทีเดียว