Friday 30 December 2011

น้ำท่วม: อันตรายของการอบบ้านฆ่าเชื้อรา (Home Fumigation)



มีคนถามคำถามนี้ว่า " มีการเขียนแนะนำในบางที่ในโลกออนไลน์เรื่อง
การอบบ้านหลังน้ำท่วม (Home Fumigation) เชื่อได้หรือไม่ อันตรายหรือเปล่า"
เมื่อ meepole รู้เรื่องแล้วก็เลยตามหาดูก็พบว่ามีข้อแนะนำดังกล่าวจริง อ่านดูแล้ว ไม่สบายใจ ทำเฉยก็ไม่สบายใจเพราะรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ถูก อันตราย และอยู่ในสายวิชาการที่เรียนมาด้วย แล้ววางเฉย หากวันหนึ่งมีข่าวถึงตายเพราะการกระทำที่ไม่รู้นั้น ก็จะเกิดความรู้สึกผิด  ถึงแม้จะเขียนเตือนตรงนี้ในที่แคบๆ ที่ไม่ค่อยมีโลกภายนอกรู้จักนัก เพราะไม่ไช่คอลัมน์บันเทิง ก็ยังดีที่มีผู้ใส่ใจคุณภาพชีวิตจริงๆที่เจาะเข้ามาถึงตรงนี้ได้ หรือไม่ก็ทุกข์มากกับเรื่องหนึ่งๆที่เผชิญเช่น เชื้อราจึงเจาะมาเจอ แต่อย่างไรก็ตามก้หวังว่าผู้ที่เข้ามาในนี้ได้ คงเมตตา กรุณา นำไปบอกต่อเพื่อให้อีกหลายๆส่วนได้รับรู้เพื่อความปลอดภัยเช่นกัน (เพราะ meepole ขอจำกัดโลกของตัวเองไม่ออกไปใช้เส้นทางออนไลน์ต่างๆที่มากกว่านี้)  กลับมาที่เรื่องนี้ว่าเมื่อตามไปเจอพบข้อความเช่นนี้ค่ะ

......เตรียมตัวออกจากบ้านให้พร้อม
   5.
นำผลึก ด่างทับทิม ใส่จานแบน ประมาณ 1 - 2 ช้อนชา
   6.
ราดฟอร์มัลดีไฮด์ 10% ลงในจานด่างทับทิมให้พอท่วม จะเกิดไอแสบจมูก

เอามาให้อ่านแค่นี้เพราะตรงนี้เป็นประเด็นหลัก  ..ก็ขอบอกว่าที่เขียนตรงนี้ก็ไม่ถูกต้องแล้ว แล้วอะไรคือที่ถูก ก็ตามอ่านข้างล่างนี้ ก็จะสามารถสรุปได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ถูก

  หากจะถามว่าสามารถทำ Home Fumigation ได้ไหม ..โดยทฤษฎีทำได้ แต่จะได้ผลอย่างไร  อันตรายไหม ควรทำไหม คุ้มไหม เป็นอีกเรื่อง ดังนั้น meepole ขอตอบว่า


หลักการที่เขาแนะให้ทำนี้เป็นสิ่งที่เขาใช้กับห้องปฎิบัติการ หรือห้องวิจัยที่ต้องการความสะอาดมาก ไม่ต้องการให้เชื้อปนเปื้อนในอากาศ และโดยเฉพาะเชื้อรา  การฆ่าเชื้อราในที่จำกัด เฉพาะที่จึงทำเช่นนี้และทำโดยนักวิทยาศาสตร์ หรือผู้มีความเข้าใจในเรื่องอันตรายของสารที่จะนำมาใช้ผสมกันดีพอควร มีเครื่องป้องกันตัว และมีข้อควรระวัง meepole จึงขอให้ข้อมูลดิบดังนี้
อันตราย จาก Formaldehyde 
  • Formaldehyde gas fumigation คือ การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์โดยการอบ/รมควันด้วยก๊าซ ฟอร์มาลดีไฮด์
  • ก๊าช Formaldehyde มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทุกชนิด รวมทั้ง spore ในสภาวะที่อุณหภูมิสูงกว่า 20 C
การทำให้เกิดก๊าซ Formaldehyde
    Formalin + น้ำ + Potassium permanganate   เกิดเป็น ก๊าซ Formaldehyde (ที่บอกว่าเกิดไอแสบจมูกคือก๊าซนี้นี่เอง) ปฎิกิริยานี้สามารถเกิดปฏิกริยาที่รุนแรง ไฟไหม้  ระเบิด และเกิดอันตราย!!!!
    อันตรายของก๊าซ Formaldehyde
  • เป็นสารพิษต่อระบบประสาท (Neuro toxin) ทำให้นอนไม่หลับ
  • ทำให้ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และ เลือดออกทางจมูก
  • Formaldehyde ในอากาศ ที่ความเข้มข้นมากกว่า 0.1 ppm ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตา และ เยื่อบุ ทำให้แสบตา น้ำตาไหลและหากสูดดมจะทำให้ ปวดศีรษะ แสบไหม้คอ หายใจลำบาก และ กระตุ้นให้เกิดอาการหืดหอบ
  • เป็นสารก่อภูมิแพ้ (Allergen)
  • เป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen)
ข้อต้องปฎิบัติ ผู้ที่จะทำ Formaldehyde fumigation
  • - จะต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้รู้จักสาร อันตราย และความเข้มข้นที่ใช้ อันตรายและ การควบคุม เป็นต้น
  • - สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
เวลาที่ใช้ในการอบฆ่าเชื้อ
  •  ก๊าซ Formaldehyde ออกฤทธิ์ช้าในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน
  • หากใช้ Formaldehyde > 1,000 ppm ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 ชั่วโมง
  • แต่อย่าลืมว่าตามข้อบังคับ ควบคุมในห้องปฎิบัติการเตือนว่า
     COHSS Regulations
    “ Maximum Exposure Limit 2 ppm (2.5 mg/m3)”  ข้อจำกัดที่ได้รับไม่ควรเกิน 2 ppm เท่านั้น
  • ppm คือส่วนในล้านส่วน (part per million )

ดังนั้นจะเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ไม่ได้คิดถึง ต้องมีการคำนึงถึงความเข้มข้นต่อพื้นที่ด้วย และสารที่ใช้คือฟอร์มาลิน ส่วนก๊าซที่เกิดคือฟอร์มาลดีไฮด์  และหากเตรียมไม่ถูกต้องก็อันตราย และที่มีข่าวไฟไหม้เกิดขึ้นจากการอบบ้านด้วยวิธีนี้ ก็เพราะไม่เข้าใจปฎิกิริยาเคมีที่เกิดต่อเนื่องนั่นเอง

นอกจากนี้ก๊าซนี้ที่เกิดขึ้น สำหรับคนที่ไม่รู้จักก็คิดง่ายๆเพียงว่าเปิดหน้าต่างก็หมดไป มันคงไม่เช่นนั้น มันมีการตกค้าง กลิ่นที่ถูกวัสดุดูดซับอีก มันจึงมีการใช้สารและบางวิธีการในการลดพิษดังกล่าว แต่meepole ไม่ขอนำมาเขียน เพราะไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้กับบ้านอยู่อาศัยของเรา เพราะมันมีโทษมากกว่า  ทราบแล้วช่วยกันบอกต่อ ก่อบุญนะคะ :)

ดังนั้นการที่คนนำมาเผยแพร่ซึ่งอาจได้รับต่อๆกันมาอีก และไม่ไตร่ตรอง ค้นคว้าก่อน แทนที่จะเกิดผลดี กลับอันตรายมาก ดังนั้นการบอกต่อๆเกี่ยวกับอะไรที่ต้องใช้สารเคมี ต้องระมัดระวังค้นคว้าอ่านให้ดีทั้งผู้ส่งข่าวและผู้เผยแพรต่อ บางครั้งไม่ได้บุญแล้ว ยังก่อบาปไม่รู้ตัวอีกด้วย

Friday 23 December 2011

น้ำท่วม : ลดความชื้นควบคุมรา 7


by meepole
ตั้งใจสุดสัปดาห์จะเขียนรู้เท่าทันรา ที่น่าสนใจ เพราะหากเรายึดหลักการที่ว่ารู้เขารู้เรามีชัยไปกว่าครึ่ง แต่วันนี้มีงานด่วนต้องออกแบบปก และตกแต่งหนังสือ เข้าใจใน บุญ ทำไว้มุทิตาแจกวันคล้ายวันเกิดของพระอาจารย์ที่ meepole ครอบครัวและลูกศิษย์ทั้งหลายให้ความเคารพนับถือ และตั้งใจแจกทั้งปี เลยขอทำงานด่วนก่อน เพราะเรื่องรู้เท่าทันราต้องแปลจากหลายส่วน และเรียบเรียง ใช้เวลา แต่เพื่อไม่ให้ผิดความตั้งใจไว้ ขอเอาเรื่องง่ายๆที่เกี่ยวข้องกับราและสำคัญเสียด้วย คือ วิธีการลดความชื้นภายในบ้าน เพราะเรากำจัดรา ทำความสะอาดบ้านเรียบร้อยแล้ว อาทิตย์หรือสองอาทิตย์ถัดมา อาจจะต้องเหนื่อยใจอีกกับราที่ค่อยๆแอบจู่โจม ขึ้นมาตามสิ่งต่างๆ และส่วนต่างๆภายในบ้านอีก และในที่สุดก็ครอบครองบ้านเราให้เราปวดหัว เสียสุขภาพจิตกันอีก ดังนั้น หลังล้างบ้านแล้วสิ่งที่ต้องรีบทำก่อนทำอย่างอื่นคือ ต้องรีบลดความชื้นในบ้านให้น้อยลงทันที บางอย่างเราอาจมองข้ามไป

เรามาดูกันว่าอะไรเป็นสาเหตุ หรือที่มาของความชื้นได้บ้าง

กระดาษ (หนังสือต่างๆ  หนังสือพิมพ์ )
พรม ผ้าม่าน เสื่อน้ำมัน กระเบื้องยาง วอลเปเปอร์
ฝ้าบนเพดาน และวัสดุอื่นที่ดูดน้ำได้ดี
เฟอร์นิเจอร์ (ไม้เพาะปาร์ติเคิล จะอมน้ำมากกว่าไม้จริง)
ต้นไม้ในบ้าน ทุกประเภท (อยู่ในตัวบ้าน เช่นห้องนั่งเล่น ห้องนอน) แจกันดอกไม้ที่มีน้ำ
แหล่งน้ำเปิดในบ้าน (ถังเก็บน้ำในห้องน้ำแบบไม่ปิดฝา ชักโครก )

เนื่องจากเชื้อราเราพบได้ตามธรรมชาติเราไม่สามารถกำจัดได้หมด แต่เราสามารถป้องกันมิให้เชื้อราเจริญเติบโตโดยการควบคุมความชื้นในบ้าน เมื่อคุณพบเชื้อราในบ้าน คุณต้องรีบกำจัดและหาสาเหตุโดยเฉพาะความชื้น หากไม่แก้ไขให้ดี ก็จะเกิดเชื้อราขึ้นใหม่ เมื่อเรารู้ที่มาของความชื้นกันแล้ว ต้องมาแก้ไขเมื่อมีการเปียกน้ำของวัสดุในบ้าน
หนังสือและกระดาษ
  • หนังสือหรือกระดาษไม่มีค่าก็ให้ทิ้งไปบ้าง
  • ทำสำเนาเก็บไว้ ส่วนที่เปียกทิ้งไป
  • หนังสือที่เปียกน้ำให้เอาไว้นอกบ้าน แผ่ผึ่งจนแห้งจึงนำเข้าบ้าน หากไม่ต้องการให้ทิ้งไปเลย
   พรม
  • ให้เอาน้ำออกโดยใช้เครื่องดูดน้ำออกจากพรม หากมีแดดผึ่งแดดตลอดจนมั่นใจว่าแห้ง
  • ลดความชื้นของห้องโดยใช้พัดลมช่วย
ฝ้าเพดานชื้น
อาจต้องเปลี่ยนใหม่เพราะมักไล่ความชื้นไม่ทัน มันจะขึ้นราก่อนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพทุกครั้ง หากเปิดแอร์หรือพัดลม
เสื่อน้ำมัน กระเบื้องยาง


  • ใช้เครื่องดูดน้ำ หรือเช็ดให้แห้ง
  • ให้ตรวจใต้เสื่อ/ กระเบื้องยางว่าเปียกหรือไม่
   ผนังยิบซัม
  • ถ้าไม่บวมก็ไม่ต้องเปลี่ยน แต่หากบวมมากก็น่าจะเปลี่ยน
  • ใช้พัดลมช่วยเป่า
   ผ้าม่าน
  • ถอดไปซักและทำให้แห้ง
วอลเปเปอร์
อันนี้คงต้องรื้อออก เพราะเก็บความชิ้นไว้ในผนัง และกันความชื้นออกมาอีกด้วย  และเป็นไปได้อย่าติดตั้งอีกเลย มีสารอันตรายมากกว่าความสวย

ของอื่นๆอีกมากมายในบ้านที่มีแตกต่างกันmeepole คงเขียนได้ไม่หมด แต่ละบ้านก็ต้องมองกันเองว่าเหลืออะไรที่ดูดความชื้นได้ดี ให้เอามาทำให้แห้งด้วยวิธีต่างๆ เช่นผึ่งแดด เป่าโดยใช้ไดร์เป่าผม  เป่าโดยพัดลม เปิดบ้านให้ลมพัดผ่านเพื่อความชื้นระเหยออกได้เร็วขึ้น อะไรที่ทิ้งได้อย่าไปเสียดายที่จะเก็บไว้รอทิ้งเพราะจะเป็นตัวเก็บความชื้น  ดูให้ละเอียดแม้กระทั่งฉนวนหุ้มท่อแอร์ที่น้ำท่วมถึงก็อาจต้องเปลี่ยนใหม่

มีสติทุกครั้งที่กำลังจัดการกับรา เช่น การเปิดพัดลมเป่าต้องดูให้ดีว่าไม่มีราในบริเวณนั้นแล้ว ฯ และใส่เครื่องป้องกันตัว(ที่เคยเขียนมาแล้ว) และบอกตัวเองเสมอ รานั้นอาจอันตรายอย่าไว้ใจ

ใจเย็นๆค่อยๆทำทีละส่วน แต่ต้องไม่ปล่อยให้ราขึ้น เอาใจช่วยนะคะ

Monday 19 December 2011

น้ำท่วม: การกำจัดเชื้อราในรถยนต์ 6



ที่มาภาพ: odorhalt.com
by meepole

คงไม่ช้าเกินไปสำหรับการกำจัดเชื้อราในรถ แม้ว่าบางคนส่งรถไปเข้าอู่ซ่อมแล้ว นั่นก็แสดงว่ามันคงอาการหนัก แต่หากใครที่น้ำกำลังจะลดเริ่มเข้าบ้านได้ คงจะเห็นว่ามีราขึ้นในรถเพราะเป็นเดือนมาแล้ว แต่หากว่ารถของใครที่ซ่อมเสร็จกลับมาแล้ว ก็อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้อีกหากไม่ได้มีการกำจัดราที่ถูกต้อง หรือกำจัดไม่หมด หรือยังมีความชื้นค้างในรถ ดังนั้นเรื่องนี้ยังไงๆก็ไม่ช้าเกินการ

ก่อนอื่นเรื่องนี้ต้องขอบอกก่อนนะคะว่า เจ้าของรถเท่านั้นที่เห็นด้วยตาตัวเองว่ารถยนต์ของท่านมีรามากในระดับใด กรณีที่ meepole จะเขียนต่อไปนี้เป็นกรณีที่ท่านคิดว่าท่านสามารถรับมือได้ มีราขึ้นบนเบาะนั่งให้เห็นชัด บนชิ้นยางทุกส่วน หรือไม่เห็นราแต่ได้กลิ่นรา อันนี้ก็คงต้องหาที่มาของกลิ่นก่อนเพื่อให้กำจัดได้ถูกจุด และหากอาการหนักจริงๆมันฟูเต็มไปหมดทั้งคันรถ เอาไม่อยู่ก็ต้องตัดสินใจว่าส่งไปให้ที่ร้านช่วยจัดการหรือไม่ และหากใครคิดว่ารอไม่ไหวต้องใช้รถ คงต้องทำความสะอาดเอง ในทุกกรณีที่อาจเป็นไปได้
ขอเตือนไว้เบื้องต้นว่า แม้ว่าราหลายชนิดเป็นประโยชน์ แต่ก็มีหลายชนิดเป็นโทษ และหากเราไม่ใช่นักราวิทยาก็ยากที่จะรู้แน่ชัดว่า ราใดอันตรายหรือไม่อย่างไร ดังนั้นการกำจัดราที่จะฟุ้งกระจายได้ง่ายมากจึงต้องระมัดระวังป้องกันตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ กรุณาย้อนไปอ่าน อันตรายของราก่อนหน้านี้ด้วยค่ะ

หากคุณตัดสินใจจะจัดการกำจัดรา ก็เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน คืออุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างรัดกุม และหากใครมีโรคประจำตัวภูมิแพ้ หอบหืด ไม่ควรจะมาเป็นผู้ช่วยในงานนี้อย่างยิ่ง และควรอยู่ให้ห่างขณะที่มีการทำความสะอาด หลังจากนั้นที่ต้องทำต่อคือหาอุปกรณ์ที่เคยกล่าวมาแล้ว  เปิดประตูรถให้กว้างหมดทุกบาน เข็นรถออกไปในที่ปลอดโปร่งมีลมพัดผ่านได้ สำรวจตรวจตราว่าบริเวณใดที่ขึ้นราบ้าง ตรงไหนมากน้อยอย่างไร และหากมองไม่เห็นราแต่ได้กลิ่นราก่อนหน้านี้ก็ให้สำรวจตรวจตราให้ดี เช่นอาจอยู่ใต้พรมรถ  ใต้เบาะ ในช่องแอร์ ใต้หลังคารถ หรือฯลฯ

 เมื่อพบแล้วก็มีข้อควรคำนึงต่อไปนี้

  • หากคุณพบว่ามีเชื้อราที่ระบบทำความเย็น ต้องหยุดใช้เครื่องปรับอากาศและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่บริษัทรถ ซึ่งอาจจะต้องทำความสะอาดระบบท่อส่ง รวมทั้งหารอยรั่วที่ทำให้เกิดความชื้น
  • สำหรับพรม หรือฝ้า หรือวัสดุที่มีรู เมื่อเกิดเชื้อราให้โยนทิ้ง เพราะเราไม่สามารถทำความสะอาดเชื้อราที่อยู่ในรู หรือร่องเหล่านั้นได้หมด หากมีน้อยที่จุดใดจุดหนึ่งก็ลองกำจัดดู แต่อาจขึ้นมาได้อีกนะคะ หากมีกำลังจ่ายก็ทิ้งไป ซื้อใหม่มาใส่ หรืออาจใช้วัสดุรองอย่างอื่นแทนพรมไปก่อน
  • กรณีเบาะนั่งที่เป็นเนื้อผ้า อันนี้คงไม่ไหว หากขึ้นรามากเกินฟูไปหมด เบาะเปียกชื้น คงต้องรื้อออกเปลี่ยน  เพราะยังไงๆตราบที่มีความชื้นในรถ ราก็ขึ้นได้ตลอดเวลา
  • สำหรับวัสดุผิวแข็ง หรือผิวเรียบให้ล้างบริเวณที่เป็นเชื้อราด้วยน้ำสบู่ และทำให้แห้ง (ใช้ไดร์เป่าผม)
  • ส่วนที่เป็นยางใช้ผงซักฟอกลงแปรงอ่อน ขัดและเป่าให้แห้ง

คราวนี้ก็ถึงส่วนที่เราถอดออกไม่ได้เช่น ส่วนเพดานรถ แต่ละคันก็มีวัสดุที่ไม่เหมือนกันก็ต้องอ่านเรื่องนี้แล้วพิจารณาดูว่าควรใช้แบบไหนจึงเหมาะ

เบาะหนังขึ้นรา ก็ให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นใหญ่จะหนาหน่อย หรือไม่ก็ฟองน้ำ ทุกอย่างใช้แล้วควรทิ้งเลยไม่แนะให้ใช้ผ้า ถ้าฟองน้ำเช็ดทีก็บีบล้างทีจะได้ไม่ไปปนเปื้อนต่อ แต่จริงๆแล้วกระดาษ tissue หนาดีที่สุด เช็ดทิ้งๆ ทันที เช็ดแบบหมาดๆ 

เช็ดราออกแล้วก็ให้ใช้น้ำส้มสายชู (สีขาว มีข้อแนะนำในตอนก่อนนี้แล้ว) ผสมน้ำเปล่า 1:1 กะประมาณดู น้ำน้อยไปหน่อยก็ไม่เป็นไร  ควรใช้ขวดสเปรย์ที่ฉีดน้ำนะคะ  ผสมเสร็จก็ ฉีดๆๆๆๆไปยังบริเวณที่มีราให้ทั่ว ไม่ต้องเช็ด ปล่อยทิ้งไว้จนกลิ่นน้ำส้มเบาลง เพราะต้องการให้น้ำส้มช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา  ระหว่างนี้เปิดประตูรถทิ้งไว้ตลอด
ถ้าราหนามากก็ให้ทำซ้ำเลย อย่ารีบเช็ดน้ำส้มออก ถ้าไม่มีรอยคราบอะไรก็ปล่อยแห้งไปเลยก็ได้ หมดกลิ่นก็ปิดรถ

เพียงเท่านี้ก็ได้รถที่ปลอดราในระดับหนึ่งกลับมา ในระหว่างนี้ให้ลองสังเกตดูว่าในรถยังมีความชื้นจากส่วนใดๆในรถหรือไม่ พยายามที่สุดที่จะลดความชื้นในรถ ในช่วงนี้หากไม่แน่ใจพยายามเอารถออกไว้ในที่มีแดด เปิดกระจกรถเล็กน้อย อย่าเพิ่งหาที่ร่มจอดรถ จับเขาไว้กลางแดดให้มากหน่อย

meepole ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เพราะเราไม่สามารถฆ่าเชื้อได้หมด เราเพียงแต่แก้ไขเรื่องความชื้น เชื้อราก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้แล้ว

รู้ได้อย่างไรว่ากำจัดเชื้อราหมดไปแล้ว

ให้ดูด้วยตาไม่พบเชื้อราในบริเวณดังกล่าว หรือไม่มีกลิ่น (อันนี้ต้องปิดรถแล้วลองดมในวันถัดๆไป)

หลังจากจัดการเรียบร้อยแล้ว ช่วงแรกนี้ให้หมั่นตรวจสอบว่ามีความชื้นหรือเชื้อราเกิดขึ้นที่อื่นที่มองไม่เห็นหรือไม่ เพราะความชื้นจะค่อยๆออกมา ราจะใช้เวลา 24-50 ชั่วโมงในการเจิญเติบโตถ้าขึ้นอีกให้ทำซ้ำในช่วงแรกนี้ ต่อไปจะดีขึ้นเอง

ปัจจัยที่สำคัญคือต้องกำจัดแหล่งที่จะทำให้เกิดความชื้นเสียก่อน หากยังมีความชื้นอยู่ก็จะเกิดเชื้อราขึ้นใหม่อีก

การทิ้งของที่มีเชื้อราไม่ควรกองตั้งไว้เพราะจะแพร่กระจายไปส่วนอื่นของบ้านได้ ให้ใส่ถุงพลาสติกมัดแน่นแล้วทิ้ง

หากแพ้กลิ่นน้ำส้มสายชู อาจลองใช้สูตรอื่นที่แนะไว้ก่อนหน้านี้ แต่สารธรรมชาติที่ไม่รุนแรงย่อมปลอดภัยต่อตัวเรา ลองเลือกดู และข้อแนะนำทั้งหมดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องเรือนอื่นๆในบ้านได้เลยค่ะ

 meepole ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ขอให้ใจเย็นๆแก้ปัญหา อย่าเครียดกับมัน แล้ววันเวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นค่ะ

คราวหน้าเรื่อง "ลดความชื้นควบคุมรา 7 :) สำคัญมากเพราะทำความสะอาดอย่างเดียวย่อมไม่พอ
http://meepole.blogspot.com/2011/12/blog-post_23.html

Monday 12 December 2011

น้ำท่วม: การจัดการราบนผนังบ้าน 5

อันตราย..ราเต็มบ้านทำอย่างไร: การจัดการราบนผนังบ้าน
โดย meepole
ตัวอย่าง สปอร์ของราชนิดหนึ่ง
 
 
ผนังขึ้นรา: ที่มา
การที่ผนังขึ้นราสาเหตุหลักคือความชื้นนั่นเอง ความชื้นตัวนี้มีที่มาหลายทางด้วยกัน เช่น
  • จากพื้นที่รั่วซึมทั้งหลาย
  • จากพื้นห้องน้ำ
  • น้ำบนดาดฟ้า
  • ภาชนะเก็บกักน้ำในบ้าน
  • ช่วงที่มีน้ำท่วม ความชื้นจากเชิงผนังที่ถูกน้ำท่วม ผนังจะเป็นตัวดูดซับน้ำขึ้นมาในแนวตั้ง อาจสูงเกิน 1 เมตร โดยจะเห็นเป็นคราบ หากท่วมนานๆ และบ่อยๆ ผนังจะสามารถดูดซับน้ำได้สูงมาก
  • แอร์ที่มีความชื้นสูง
  • การรั่วซึมของท่อต่างๆนอกและในบ้าน
  • ระบบการระบายอากาศที่ไม่ดีในบ้าน เป็นต้น
  • กรณีพิเศษเหนือการคาดคิดครั้งนี้คือน้ำท่วมและขังนาน ทำให้ชื้นทั้งบ้าน
และที่สำคัญคือตอนนี้ส่วนมากทุกบ้านจะมีแอร์ติดในห้องต่างๆและเมื่อปิดแอร์ก็จะเปิดประตูหรือหน้าต่างในขณะที่ยังมีความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้มีความชื้นสูง

ลักษณะที่เห็น
บางคนอาจไม่แน่ใจว่าที่เห็นเป็นราหรือเปล่า
ราที่มีในบ้านอาจเป็นทั้งราที่ผลิตสารพิษ และราปกติทั่วไป ราอาจจะมีได้ทุกสี ฟูบ้างไม่ฟูบ้างเพราะรามีหลายชนิดมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นสีดำ น้ำตาล หรือเขียวๆ ดังนั้นที่เห็นอาจเป็นสีสวยๆชมพู เหลือง ส้มๆ  เทาเขียว ขาวจุดส้ม เป็นต้น บางชนิดเรืองแสงในที่มืดได้ด้วย

สาเหตุ
อีกปัญหาที่เรามักจะมองไม่เห็นคือจริงๆแล้วภายในบ้านจะมีความชื้น และหากบ้านใครที่มีแหล่งน้ำในบ้าน เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในห้องน้ำ ถังรองน้ำในบ้านที่ไม่ปิดฝา เป็นต้น จะทำให้ภายในบ้านมีสภาพอากาศชื้นมากกว่าปกติ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ บนผนังบ้าน ฝาบ้านจะมีคราบไอน้ำเกาะอยู่แทบตลอดเวลาแต่เรามองไม่เห็น แต่สามารถใช้มือสัมผัสจะรับรู้ถึงความเย็นชื้นๆ
ทั้งสองสาเหตุนี้ ทำความเสียหายแก่ผนังบ้านไม่เหมือนกันโดยที่
  • ความชื้นในผนังจะทำให้สีลอกล่อนหลุด แต่
  • ความชื้นบนผนังจะทำให้เกิดรา และถ้าสังเกตุให้ดีๆ จะพบตะใคร่ (เขียวๆดำๆ) ปะปนอยู่ด้วยเสมอ
 อันตราย
หากใครที่มีประวัติการเป็นภูมิแพ้ก็แน่นอนว่าจะเป็นต่อได้เรื่อยๆ  ใครที่ยังไม่เป็นก็มีความเสี่ยงที่จะได้ของแถม ที่อันตรายนี้ติดตัว และแน่นอนว่าย่อมไม่ไช่ภูมิแพ้เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะกับเด็กๆ

การกำจัด
(กรุณาย้อนอ่านขั้นตอนเตรียมการและข้อควรระวังก่อนจะกำจัดราก่อน เพื่อการป้องกันตัวเองตามอัธยาศัย)
  1. ใช้สาร Hypochloride เช่น ยาฟอกผ้าขาวทั้งหลาย (ไฮเตอร์ หรือ คลอรอกซ์) พวกนี้มีส่วนผสมของ คลอรีน สามารถฆ่าได้ทั้งราและตะใคร่ แต่อย่าใช้คลอรีนเดี่ยวๆแบบที่ใช้ในสระว่ายน้ำ เพราะจะเกิดอันตรายหากไม่รู้วิธีป้องกันเนื่องจากการกัดกร่อนสูง
  2. เอาแปรงทาน้ำยาเบาๆในบริเวณที่เป็นเชื้อรา อย่าถูหรือขัดในขั้นตอนนี้ เพราะสปอร์ของราจะฟุ้งกระจายไปติดผนังที่ยังดีส่วนอื่นๆ
  3. ทาทิ้งไว้ 5-7 วัน ถ้าไม่เห็นมีราขึ้นอีก ให้ใช้น้ำที่ต้มจนเดือดและตั้งทิ้งให้อุ่น มาล้างทำความสะอาดต่อ ใช้ผ้าแห้งเช็ดให้แห้ง (ผ้าหรือแปรงที่ใช้ ต้องแน่ใจว่าสะอาด เพราะถ้าปนเปื้อนเชื้อใหม่ ก็จะเกิดราได้อีกในเวลาอันสั้น)
  4. ถ้าทิ้งไว้แล้วรายังขึ้นอีก ก็ทำใหม่อีกรอบ ทิ้งไว้ 5-7 วันเหมือนเดิม เท่าที่พบมามักจะไม่เกิน 2 ครั้งราก็จะไม่กลับมาอีก (หากผนังไม่ชื้น)

ราที่มุมผนังห้องเนื่องจากความชื้น

เท่านี้ผนังในบ้าน นอกบ้าน ควรจะปลอดราแล้วล่ะค่ะ ขอให้ Happy กับ รา - killing day อีกวันนะคะ

ครั้งหน้าจะเป็นการกำจัดเชื้อราในรถค่ะ

Friday 9 December 2011

น้ำท่วม: ปฏิบัติการฆ่าเชื้อรา 4: สารฆ่าเชื้อรา

สารฆ่าเชื้อรา (ต่อจากตอนที่แล้ว)

by meepole

รา

 คราวที่แล้วเสนอเรื่อง สารฆ่าเชื้อราในระดับค่อนข้างปลอดภัย  ตอนนี้จะเป็นสารเคมีที่มีระดับอันตรายเพิ่มขึ้น

1. แอลกอฮอล์ (ethanol, isopropanol)
พวกนี้จะทำลายทั้งแบคทีเรีย และรา (บางชนิด)  เน้นขอให้ดูให้ดีว่าเป็นเอธานอล ไม่ไช่เมธานอลนะคะ
วิธีใช้  ใช้ที่ความเข้มข้น 60 - 90%. ควรให้ระยะสัมผัส อย่างน้อย 5-10 นาที
ข้อควรระวัง เวลาเตรียมหรือใช้อย่าจุดไฟ หรือสูบบุหรี่ในบริเวณไกล้เคียง

2. Chlorox  bleach หรือ sodium hypochlorites
สารนี้ส่วนใหญ่จะรู้จักกัน เป็นสารประกอบคลอรีน มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้ออย่างกว้างขวาง มีราคาถูก และออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว สารละลาย hypochlorite เสื่อมสภาพได้เร็ว ประสิทธิภาพจะลดลงเมื่อสัมผัสอินทรียสาร จึงควรเตรียมใหม่เมื่อใช้และเก็บในภาชนะที่ป้องกันแสง

วิธีใช้ ใช้อัตราส่วน 1:10
ข้อควรระวัง การสัมผัสทางผิวหนัง ก่อให้เกิดการระคายเคืองปานกลางและเกิดผื่นแดง
การหายใจเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ
ข้อแนะนำ เวลาใช้อย่าลืมใช้ผ้าปิดจมูก ปาก  เพื่อป้องกันไอระเหยของคลอรีนนะคะ และควรสวมถุงมือ ระวังตาด้วย คนใส่แว่นตาอาจได้กำไรหน่อย

3.ไฮโดรเจนเพอรอกไซด์ (hydrogen peroxide)
สารนี้ใช้ล้างแผล แต่เวลาจะซื้อจากร้านสารเคมีต้องตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ข้างขวดให้ดี เพราะที่ความเข้มข้นสูง สารนี้จะกัดมือ อันตราย

วิธีใช้  ใช้ที่ความเข้มข้น 3-6 % แต่ตัวนี้ระยะเวลาสัมผัสใช้ต้องใช้เวลานานหน่อย (แช่ไว้)
ข้อเสีย สารนี้เสื่อมเร็วเมื่อโดนแสงหรือความร้อน
ข้อดี ถ้าผสมกับ peracetic acid จะฆ่าสปอร์ได้

4. ไอโอโดฟอร์ (Iodophore)
ใช้ฆ่าสปอร์ได้ที่ความเข้มข้น  75 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ระยะเวลาสัมผัสใช้ต้องใช้เวลานานเช่นกัน
ข้อเสีย ค่อนข้างแพง

 สารข้างต้นเหล่านี้หาซื้อได้ที่ ร้านขายยา  และร้านขายสารเคมี

บทสรุป /ข้อควรคำนึง  การฆ่าเชื้อราที่ได้แนะนำวิธีการบางส่วนนี้ คงต้องปรับประยุกต์ได้ตามสภาพ เรามีทางออกในการใช้สารธรรมชาติ หรือสารที่มีอันตรายน้อย ก็ควรที่จะเลือกใช้ให้เหมาะสม กับทั้งลักษณะของวัสดุ และสภาพผู้ใช้ (มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง) ด้วย  และความสะดวกในการซื้อหา

การฆ่าเชื้อราบางชนิดหากอยู่ในระยะที่มีสปอร์ การใช้สารบางชนิดอาจมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก หรือให้ผลได้ไม่นานก็อาจจะขึ้นซ้ำในบริเวณเดิมหรือไกล้เคียงอีก แต่เราก็สามารถทำซ้ำได้หลายๆครั้ง มันก็จะหมดไปเองในที่สุด แต่บางชนิดอาจเห็นผลไม่ขึ้นอีกเพราะเพิ่งเริ่มขึ้น

ที่สำคัญขอย้ำเตือนคือ สารเคมีทุกชนิดอันตราย ดังนั้นควรระมัดระวังขณะใช้ และเชื้อราก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่นกัน หากจะใช้สารเคมีดังกล่าวในการกำจัด อย่าลืมย้อนกลับไปอ่านอันตรายของราและขั้นตอนก่อนหน้านี้ ให้เข้าใจเพื่อจะได้ปฏิบัติการฆ่าเชื้อราที่ปลอดภัยจริงๆ  ขอให้สนุกกับ “รา ... killing day” นะคะ

ตอนต่อไปมาสนุกกับ การฆ่าเชื้อราและตะไคร่ในห้องน้ำหรือมุมที่เปียกชื้นกันต่อนะคะ 

Tuesday 6 December 2011

น้ำท่วม: ปฏิบัติการ... ฆ่าเชื้อรา 3

ปฏิบัติการ... ฆ่าเชื้อรา  ในที่สุดก็ถึงวัน Killing Day



รูป เส้นใยของรา (hypha)  ที่มาภาพ: envirovantage.com

โดย meepole
หมายเหตุ: ก่อนจะทำขั้นตอนต่อไปนี้ กรุณากลับไปอ่านคำเตือนตอนก่อนหน้านี้ก่อนนะคะ

 อย่างที่ได้บอกในตอนที่แล้วแล้วว่า รามีหลายหลายกลุ่ม ประเภท  (species) มีทั้งที่เกิดประโยชน์ และให้โทษ แต่ละชนิดมีปัจจัยสำหรับส่งเสริมการเจริญเติบโตได้ไม่เหมือนกัน เหมือนคนที่ลางเนื้อชอบลางยา และมีอันตรายต่อสุขภาพได้แตกต่างกัน แม้ว่าคนบางคนอาจไม่แพ้กลิ่นรา ไม่เป็นภูมิแพ้ แต่หลายคนที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อราแบบต่างๆที่อาจไม่รู้ตัวเช่น ในลักษณะของการมีอาการอ่อนเพลีย และซึมเศร้าหดหู่โดยไม่มีสาเหตุ

นอกเหนือจากอันตรายที่เคยกล่าวมาแล้วในตอนที่แล้ว  นั่นหมายความว่าเราคงจะละเลยปล่อยให้ราหายไปเองไม่ได้ เพราะจริงๆมันไม่ได้หายไปใหน มันมีสปอร์ก็ล่องลอยไปเที่ยวตามที่ต่างๆในบ้าน หรือนอนรอคอยที่เดิมเพื่อรอฝ่ายสนับสนุนคือความชื้น ในโอกาสต่อๆไป ดังนั้นนอกจากทำความสะอาดแล้ว ก็ต้องกำจัดคือฆ่าเชื้อรา

เชื้อราฆ่าได้ จริงหรือ ??
ฆ่าได้แน่นอน แล้วแต่ชนิด และวิธีการ ในห้องปฏิบัติการจริงๆจะมี เครื่องนึ่งความดันสูงๆ นั่นเขาฆ่าแบบไม่ได้เกิดใหม่อีก ของเราแบบบ้านๆก็จะทำได้ในระดับที่ตายไปแล้ว อาจฟื้นได้อีก แต่หากทำดีๆก็จะหายนานมากจนลืมไปทั้งคนทั้งรา  และบางชนิดที่ใจเสาะตายแล้วตายเลยไม่มาอีก บางชนิดก็ขึ้นกับพื้นผิววัสดุ เพราะถ้าเป็นพวก particle board แบบเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลาย  จะมีความหนา และราสามารถซ่อนตัวอยู่ใต้ผิวลึกลงไป แบบนี้มันก็อาจจะขึ้นได้อีกเพราะมันยังไม่เคยตาย มันก็ไม่ตาย

  คำเตือน การทำความสะอาดต้องสวมใส่อุปกรณ์ต่างๆที่เคยกล่าวมาแล้ว เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ทุกอย่างอยู่ในดุลพินิจของท่าน

สารที่จะใช้ฆ่าเชื้อรามีอะไรบ้าง ??

 สารที่จะบอกต่อไปนี้จะเป็นสารที่มีทั้งที่ อันตรายน้อย และอันตรายปานกลาง (ที่อันตรายมากขอเซ็นเซอร์  กลัวว่าเตรียมพลาด หรือใช้ไม่ระวังแล้วจะอันตรายมากกว่ารา เพราะไม่ไช่นักเคมีพันธุ์แท้ เวลาเตรียมผสมควรทำในตู้ควัน เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ) เอาที่แม่บ้านพ่อบ้าน ลูกบ้านทำกันเองได้ในบ้านก็แล้วกัน

สารที่ค่อนข้างปลอดภัย มี 3 ชนิด (“สารทุกชนิดเป็นสารพิษ ไม่มีสารใดเลยที่ไม่มีพิษ  ปริมาณที่รับเข้าสู่ร่างกายเป็นสิ่งที่แยกว่าสารที่เข้าสู่ร่างกายนั้นเป็นพิษหรือเป็นประโยชน์” ) พาราเซลซัส (Paracelsus :1493- 1541)  -ขออนุญาตแอบเอาวิชาพิษวิทยาที่meepole สอนมาเหยาะใส่นิดหนึ่ง

 1.น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชู สูตรกลั่นหรือหมักก็ได้  (ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 7 %) ถ้าเข้มข้นน้อยเกินรามันจะหัวเราะเอา แต่หมักน่าจะเก็บไว้รับประทานจะดีกว่าเสียดาย  แบบกลั่นราคาถูก (เวลาแนะเพื่อนก็เอาแบบนี้) ทุกรายจะบ่นกลับมาเหมือนกันหมด คือเหม็น (จริงๆมันไม่เหม็นหรอก มันหอมฉุนไปหน่อยและค้างอยู่นานกว่าแอลกอฮอล์ (เพื่อนรายที่หาดใหญ่บ่นมาว่า 2 วันแล้ว กลิ่นยังลอยไปลอยมาในบ้าน ก็เพราะเป็นราทั้งบ้านเลยเช็ดทั้งบ้านก็คงต้องทน ..มันเป็นเช่นนั้นเอง บอกแล้วว่าให้แบ่งทำ ก็ไม่ยอมจะลุยวันเดียว) คงไม่กินผัดเปรี้ยวหวานไปอีกนาน :)

 วิธีการใช้ เทน้ำส้มสายชูออกจากขวดใส่กระดาษทิชชู หมาดๆ (ไม่แนะนำให้ใช้ผ้าเพราะใช้แล้วต้องซัก ไม่ดีแน่ เอาแบบใช้แล้วทิ้งปลอดภัยกว่า)  หรือใส่ขวดสเปรย์ก็ได้ สเปรย์ตั้งทิ้งไว้สัก 5-10 นาทีแล้วก็.............เช็ดเลย
ข้อดี ราคาถูกสุด ถ้าราเต็มบ้านจะประหยัดได้
ข้อเสีย ไม่ฆ่าสปอร์ แต่ก็สามารถกำจัดได้ในระดับน่าพอใจ (80%) กลิ่นหอมฉุน (ถ้าชอบ)
ข้อแนะนำ  ถ้าแพ้กลิ่นน้ำส้มอาจใช้น้ำมันหอมระเหยอื่นๆ ผสมจะช่วยกลบกลิ่นได้

2.Tea tree oil
เป็นน้ำมันหอมระเหย (อาจหาซื้อได้ยากในจังหวัดเล็กๆ) หาซื้อได้ที่ร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพ  ใช้ 2 ช้อนชาในน้ำ 2 ถ้วย ใส่ขวดสเปรย์เบาๆ บนบริเวณที่ต้องการแล้วเช็ด เหลือเก็บใส่ขวดเก็บไว้ใช้ได้นาน
 ข้อดี เป็นสารธรรมชาติ ปลอดภัย ฆ่าราได้หลายชนิด มาก และราหลายชนิด go for good เลยล่ะ
ข้อเสีย  กลิ่นประหลาดๆ ถ้าไม่คุ้นก็บอกว่า เหม็นอีกตามเคย และก็ แพงๆๆๆๆ (ของดีและถูกคงหายากหน่อย)
แต่ใช้ไม่มากก็เห็นผล หาซื้อง่ายในตปท (ไม่ไช่ปตท)

 3.Grapefruit seed extract
 ใช้ 20 หยด ใส่ในน้ำ 2 ถ้วย ใส่ขวดสเปรย์เบาๆ บนบริเวณที่ต้องการแล้วเช็ด
อันนี้เหมือนกับ Tea tree oil ก็ต้องขยันหาซื้อหน่อย แต่ดีจริงๆ
ข้อดี เป็นสารธรรมชาติ ปลอดภัย ฆ่าราได้หลายชนิด และไม่มีกลิ่น
ข้อเสีย แพงๆๆๆๆ เช่นกัน

ตอนต่อไป จะเป็นสารเคมีที่ มีระดับอันตรายเพิ่มขึ้นค่ะ

Friday 2 December 2011

น้ำท่วม: การกำจัดราในบ้าน 2

การกำจัดราในบ้าน1
โดย meepole

ที่มาภาพ carpetvalle.com

(ต่อ) ..การกำจัดรามีหลายวิธี (ขอเขียนแบบครูวิทย์ก่อน)  แต่แบ่งเป็นสองขั้นตอนคือ
  • กำจัดโดยใช้อุปกรณ์ และ
  • กำจัดโดยใช้สารเคมี
 วันนี้จะเรื่มด้วยขั้นตอนแรกก่อนคือ กำจัดโดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ

 เมื่อคุณเห็นรา ตรงใหน เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ดังนี้ก่อน
  1. กระดาษหนังสือพิมพ์เยอะๆ
  2. กระดาษ tissue แผ่นใหญ่ หนาก็ดี
  3. หน้ากาก (แบบที่ปิดกันหวัด) หากไม่มีใช้ผ้าเช็ดหน้าแทน
  4. ถุงกอบแกบที่ใช้แล้ว( reuse ก่อนทิ้ง)
  5. ถุงมือ (ถ้าเป็นคนแพ้สารง่าย)
  6. น้ำเปล่า
เงื่อนไข กรณีที่เขียนนี้ ผู้เขียนตั้งธงไว้ว่า เป็นราในชายคาบ้าน และมีค่อนข้างเยอะพอควร ดังนั้นจึงเตรียมการทุกอย่างเพื่อความปลอดภัยสูงสุด (สัญญาณสีส้ม) จะได้ไม่ติดเชื้อจากราในภายหลัง ดังนั้นถ้ารามันไม่มากแค่จิ๊บๆ ก็ทำแบบจิ๊บๆ ย่อลงตามส่วนนะคะ เดี๋ยวจะว่า ขี่ช้างจับตั๊กแตน

 เราจะทำกัน 2 ขั้นตอนคือ ทำความสะอาด และ ฆ่าเชื้อรา (อ่านแล้วดูโหดไปหน่อย  แต่จำเป็น)
 เราจะเริ่มที่ขั้น   ทำความสะอาดก่อน
  1.  แรกสุดที่ต้องคิดถึง คือกำหนด "รา cleaning day" (ทำงานให้เป็นสุข สนุกกับการทำงาน)  ดูว่าราขึ้นมากไหม (บริเวณกว้างไหม) และมันเพิ่งขึ้น หรือมันนานพอควรแล้ว  รู้ได้ยังไง ...ก็ดูว่าฟูมากไหม เป็นขยุ้ม หรือเป็นจุดเล็กๆ อันนี้จำเป็น แล้วแต่ละสภาพแวดล้อมที่ทำ ถ้าเป็นในห้องน้ำมักจะเป็นพวกไม่ฟู ถ้าเป็น อาหาร  ไม้ โดยเฉพาะ particle board ที่เป็นส่วนของเฟอร์นิเจอร์ จะฟู (ถ้าขึ้นมาเกิน 1 สัปดาห์แล้ว)
  2.  สำรวจความพร้อมของคณะทำงานและผู้ช่วยก่อน ถ้ามีรามาก และฟู และคุณมีสภาพร่างกายที่มีความเสี่ยงแบบที่กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ ก็ควรใส่ที่ป้องกัน สวมหน้ากากกันหวัดนั่นล่ะ ถุงมือพลาสติกที่มีขายตามสรรพสินค้าทั่วไปหรือเป็นถุงมือแพทย์ก็ได้ ถ้าฉุกเฉินจริงๆหาไม่ทัน เอาของที่มีทุกบ้านมาใช้แทน คิดออกไหมเอ่ย!!!  ถุงกอบแกบขนาดเล็กเอามือใส่เข้าไป แล้วเอาห่วงยางรัดก็จะได้ถุงมือแบบไม่มีนิ้ว เก๋ไปอีกแบบ  เสื้อผ้าที่สวมใส่เอาที่รัดกุมหน่อย อย่ากรุยกรายมากนักเดี๋ยวยังไม่ทันทำความสะอาด แขนเสื้อ ชายเสื้อ จะไปกวาดแทนหมด
  3. ดูพื้นที่ๆเราจะจัดการก่อนว่าราขึ้นที่ไหน สภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเป็นอย่างไร เช่นแห้ง ชื้น เปียก
  4. สำรวจบริเวณที่จะทำความสะอาด ว่ามีของเกะกะ หรือของใช้อื่นๆอยู่ใกล้หรือไม่ เช่นเฟอร์นิเจอร์ โซฟา หมอนหนุน อยู่ในบริเวณเดียวกัน หากมันขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่งที่เป็นจุดร่วม ต้องค่อยๆหยิบออกมาวางทีละชิ้นแล้ว clear เพราะจะถือว่าทุกส่วนกระทบหมดคือ อาจมีรา เพราะรามีลักษณะเป็นเส้นใยมันสามารถชอนไช แผ่ขยายเหมือนตาข่าย เพราะฉะนั้นถ้าจะทำความสะอาดที่จุดใดต้องจัดการบริเวณไกล้เคียงด้วย บริเวณอื่นก็ใช้หลักการเดียวกัน ไม่งั้นมันจะเหลือพรรคพวกเตรียมซุ่มรอก่อการร้ายได้อีก เมื่อสภาพแวดล้อมรู้เห็นเป็นใจ  
  5. สังเกตพื้นผิวที่จะกำจัดก่อนว่าพื้นเรียบหรือขรุขระหรือมีรูพรุน (วัสดุมีรูพรุนหรือน้ำซึมได้ดี เช่น ฝ้า แผ่นฉนวน พรม เสื้อผ้า กระดาษ หนังสือ ) หรือไม่ซึมน้ำ เช่น แก้ว โลหะ พลาสติกแข็ง หรือซึมได้เล็กน้อย เช่น ไม้ คอนครีต
  6. กำหนดบริเวณที่ทำความสะอาด แล้วหากระดาษหนังสือพิมพ์มาปูรอบๆ (ติด) พื้นบริเวณนั้น ๆ (กรณีในบ้าน) แล้วสเปรย์น้ำหมาดๆลงบนกระดาษ (ก่อนจัดการรา)  ถ้าเป็นห้องนอนต้องหาผ้ามาคลุมเตียง
  7. เอาถุงกอบแกบ ใบใหญ่หน่อยชนิดที่เอาของทุกอย่างทิ้งในถุงนั้นได้หมด โดยไม่ต้องคอยขยับถุง (กระเทือน) มาวางใกล้ 
  8. อย่าเปิดพัดลม เพราะอาจเป็นตัวกระจายสปอร์ให้ฟุ้งไปทั่วอีก
   พร้อมแล้วนะคะ    ลงมือลุย
  • จากข้อ3  ถ้าพื้นที่ที่ราขึ้นแห้ง ห้ามเช็ดแบบแห้งเป็นอันขาดเพราะถ้ามีสปอร์มันจะฟุ้งล่องลอย ไปเที่ยวรอบห้อง หรือไม่ก็เข้าจมูก ปาก ตาของเรา อันตรายอีก ดังนั้น ต้องทำให้มันชื้นเล็กน้อย โดยใช้กระดาษ tissue มากๆหลายๆชั้น ชุบน้ำ หมาดมากๆ ไม่ต้องเปียกแฉะ ปกติควรใช้ tissue ขนาดแผ่นใหญ่ที่เป็นม้วน มันจะหนาดีมาก
  • แล้วเช็ดจากล่างขึ้นบน  (ซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้ายก็ไม่ ได้) นี่กรณีราขึ้นฟู นะคะ ถ้าไม่ฟูก็ตามใจถนัด
  • เช็ดทีเดียวทิ้งทุกครั้ง ไม่มีการซ้ำ อย่าประหยัด !!! เอาถุงกอบแกบตามติดไว้ใส่กระดาษที่เช็ดเชื้อทิ้งทันที อย่าวางกองบนพื้น
  • เตรียมน้ำสบู่เหลว เอาแบบที่บอกว่าฆ่าเชื้อหรือธรรมดาก็ได้  ผสมน้ำเล็กน้อย  เช็ดซ้ำอีก
  • เสร็จก็ใช้น้ำเช็ดซ้ำ คราวนี้เช็ดยังไงก็ได้ ตามใจชอบ
 ทำความสะอาดเสร็จ นั่งพักก่อนได้ ถ้าเหนื่อย เพราะขั้นตอนต่อไปจะเป็นการฆ่าเชื้อรา
(ต่อตอนต่อไป)