Friday 28 October 2011

น้ำท่วม : ด่างทับทิมใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

by meepole

ด่างทับทิม ( Potassium permanganate )

เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผลึกเล็กๆ สีม่วงเข้ม แววเงา ไม่มีกลิ่น เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายสีม่วงหรือสีชมพูอมม่วง

ชาวบ้านทั่วไปมักจะรู้จักประโยชน์ของด่างทับทิมในแง่การฆ่าเชื้อ ดังนั้นแม่บ้านเลยนิยมนำมาแช่ผัก ผลไม้  คนเลี้ยงปลาไม่ว่าปลาตู้ ปลาบ่อ ก็นำมาใช้เช่นกัน

ปัญหาคือเรามักจะคิดว่าเมื่อใช้ด่างทับทิม แช่ผัก ผลไม้ได้ แสดงว่าสารนี้น่าจะปลอดภัย คงกินได้ไม่อันตรายนัก

แต่จริงๆไม่ไช่เช่นนั้น คนไทยมักจะใช้สิ่งต่างๆตามคำบอกต่อๆ โดยไม่ลงลึกทำความเข้าใจก่อนใช้ ทำให้เกิดอันตรายหลายต่อหลายเหตุการณ์โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จริงๆแล้วความจริงข้อหนึ่งที่ทุกคนต้องจำให้ได้ขึ้นใจในการใช้สารทุกประเภทคือ
สารทุกชนิดเป็นสารพิษ ไม่มีสารใดเลยที่ไม่มีพิษ  ปริมาณที่รับเข้าสู่ร่างกายเป็นสิ่งที่แยกว่าสารที่เข้าสู่ร่างกายนั้นเป็นพิษหรือเป็นประโยชน์ " นี่เป็นคำกล่าวของ พาราเซลซัส บิดาแห่งสาขาวิชาพิษวิทยา เมื่อ meepole สอนวิชาพิษวิทยา คำกล่าวนี้จะเป็นตัวเริ่มของการสอนเลย

จากคำกล่าวนี้เป็นความจริงที่ว่า ไม่มีสารใดที่ไม่เป็นพิษ แสดงว่าด่างทับทิมก็หนีไม่พ้น เพียงแต่ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเท่านั้นจะทำให้ปลอดภัย

ประโยชน์ด่างทับทิม

ใช้เป็นสารฟอกขาว เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ผสมลงในน้ำเพื่อใช้ฆ่าเชื้อ กระทั่งใช้แก้พิษ เป็นต้น

ในกรณีที่เร่งด่วนน้ำท่วมไม่มีน้ำสะอาดใช้เช่นนี้ meepole จึงเขียนเพียงย่นย่อก่อน (ค่อยแอบมาเติมเพิ่มวันหน้า) ให้ช่วยกันเอาไป บอกต่อ ก่อบุญ  ให้เข้าใจการใช้ด่างทับทิมอย่างปลอดภัยและเกิดโทษน้อยที่สุด ขอยกกรณีที่แม่บ้านถามมาในรายการโทรทัศน์ก่อนว่า จะใช้ด่างทับทิมฆ่าเชื้อได้หรือไม่  และปริมาณที่ใช้รู้ได้อย่างไร

การนำด่างทับทิมมาใช้ในจุดประสงค์ฆ่าเชื้อโรคในน้ำใช้ ไม่ใช้ใส่น้ำแล้วนำมาดื่ม

ฆ่าเชื้อโรคได้จริงหรือ

จริงค่ะ  แต่ก็ไม่ทุกชนิด สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ตลอดจนสาหร่าย ได้บางชนิด แต่ทั้งนี้ขึ้นกับความเข้มข้น และระยะเวลาที่ใช้ หากเข้มข้นเกินไปก็เป็นอันตรายต่อเรา

ใช้ปริมาณเท่าใดจึงไม่อันตราย

เนื่องจากเราชาวบ้านไม่สามารถที่จะมีเครื่องมือในการ ชั่ง ตวง วัด ได้ดังนั้นจึงขอให้ใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือดูจากสี ซึ่งเป็นการประมาณที่ไกล้เคียง ถ้าจะใช้ฆ่าเชื้อในน้ำใช้ ให้ค่อยๆใส่แล้วคนให้ละลายหมดก่อน สังเกตสี สีที่สามารถนำมาใช้ในระดับปลอดภัยเป็นสีชมพูอ่อนหรือม่วงอ่อน (ดูสีเทียบจากภาพ)

สีชมพูใส หลอดที่สองจากขวาไปซ้าย  หลอดกลางเริ่มเข้ม  ขวาสุดเข้มมากไป อันตรายต่อผิวหนังแล้ว

หากเป็นสีชมพูใส ก็ประมาณได้ว่าความเข้มข้นจะประมาณ 1 ส่วนในล้านส่วน และหากสารละลายเป็นสีม่วงแล้วก็ประมาณได้ว่าความเข้มข้นจะประมาณ 1 ส่วนใน 76,000 (65 mg/4.5 l) ซึ่งเริ่มเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้แล้ว

หากใช้ด่างทับทิมเพื่อฆ๋าเชื้อในน้ำล่ะก็ ต้องทิ้งไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง จึงจะนำน้ำนั้นไปใช้

นอกจากนี้ด่างทับทิม (เข้มข้น 1-4%) สามารถใช้กำจัดเหล็ก และแมกนีเซียมที่เจือปนมาในน้ำ  เราจะพบปริมาณแมกนีเซียมมากในอุจจาระ ดังนั้นการใช้มีการใช้ด่างทับทิม จะช่วยฆ่าแบคทีเรีย รา ไวรัส และสาหร่าย ด้วยความเข้มข้นขนาดนี้สามารถกำจัดกลิ่นดินกลิ่นสาบของน้ำ ได้ด้วย

ข้อควรระวังในการใช้ด่างทับทิม

ด้วยคุณสมบัติที่เป็นสารที่เกิดปฎิกิริยารุนแรง กระทั่งสามารถลุกไหม้ได้เมื่อถูกกับสารละลายบางชนิด ดังนั้นควรระมัดระวังในการเก็บ วางให้พ้นมือเด็กด้วย

เนื่องจากเป็นสารที่สามารถเกิดปฎิกิริยารุนแรงกับสารบางชนิดได้  ดังนั้นการใช้สารนี้จึงควรระมัดระวังไม่ให้สัมผัสผิวหนังโดยตรง (ไม่เอามือหยิบผลึก) เพราะจะทำให้ผิวแห้งเป็นขุย ถ้าสารละลายเข้มข้นจะทำให้เป็นผื่นแดง ปวด หรือเป็นแผลไหม้ หรือเป็นจุดด่างสีน้ำตาล ระวังการปลิวเข้าตาเพราะผลึกเบาจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดหรือตาบอดได้  การหายใจเข้าไปก็ทำให้ระคายเคือง ไอ หายใจถี่ขึ้น

กลืนกินเข้าไปอันตรายหรือไม่ อย่างไร

การกลืนกินด่างทับทิมเข้าไปก็อันตรายไม่ว่าในสภาพของแข็ง หรือของเหลวที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้กระเพาะเป็นแผลไหม้รุนแรง บวมน้ำ ความดันเลือดต่ำถึงตายได้
พบว่าที่ความเข้มข้นเพียง 1% ทำให้ลำคอไหม้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
ความเข้มข้น 2-3% ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง คอบวม หายใจไม่ออก

แม้ว่าด่างทับทิมจะมีประโยชน์มากมาย แต่หากใช้ได้ไม่ถูกต้องอาจทำ ให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษต่อร่างกายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นผู้ใช้จะต้องใช้อย่างเข้าใจ และระมัดระวัง ผลข้างเคียงจากการใช้ด่างทับทิม


ตอนหน้าจะเขียนเรื่องการใช้ด่างทับทิมในการล้างผักสด ผลไม้ ตลอดจนการใช้เป็นสารแก้พิษ และอื่นๆ

อ้างอิง:
http://www.fda.moph.go.th/
http://www.oxidationsystems.com/products/permanganate.html