Tuesday 16 October 2012

พิษภัยจากอาหารทะเล

 
 
 
ภาพที่ดูเหมือนจะให้ขำขันแต่คิดให้ดีแล้ว น่าจะขำไม่ออกนัก เพราะขนาดเจ้าฉลาม 2 ตัวนี่ยังกลัวปรอทที่สะสมตกค้างในร่างกายของคนเราเลย ทั้งนี้เพราะเราบริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนโลหะหนักหลายชนิด ขนาดฉลามยังขยอง!!

ว่าแต่..ปรอทในทะเล มาจากไหน (ปรอท จัดเป็นโลหะหนักค่ะ)


 
หลังจากอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหล แม้กระทั่งปล่อยน้ำมันทิ้งในทะเลจากงานวิจัยต่างๆมีข้อมูลว่าจะตรวจพบโลหะบางชนิด เช่น สารหนู เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนสารปรอทนั้นพบสูงเพิ่มขึ้นในอากาศ สารพิษจากน้ำมันได้ถูกส่งผ่านห่วงโซ่อาหาร ผ่านหอยแมลงภู่ เพรียง หอยฝาเดียว และส่งผ่านไปยังสัตว์ที่กินสัตว์เหล่านี้เป็นอาหารและสามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตต่างๆในทะเล
การตรวจพบโลหะและโลหะหนักตกค้างในตะกอน สัตว์ทะเล ที่นำมาจากแหล่งน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ตรวจพบโลหะหนักจำนวนมาก บางชนิดเป็นสารก่อมมะเร็งกลุ่มที่ 1 2A, 2B หรือกลุ่ม 3 เช่น สังกะสี แมงกานีส สารหนู (กลุ่ม 1) โคบอลท์ (กลุ่ม 2B) โครเมียม (กลุ่ม 3) ซีลิเนียม ปรอท (กลุ่ม 3) แคดเมียม (กลุ่ม 1) ทองแดง ตะกั่ว (2A/2B) นิเกิล (กลุ่ม 1)  ดีบุก แอนติโมนี และวานาเดียม โดยเฉพาะนิเกิล (กลุ่ม 1) และวานาเดียม นั้นพบมากในน้ำมันดิบ
การปนเปื้อนโลหะในอาหารทะเลจะแตกต่างกันขึ้นกับแหล่งน้ำมัน ชนิดของสิ่งมีชีวิตและสภาวะแวดล้อม  มลพิษที่ปนเปื้อนในน้ำทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติจะปนเปื้อนมากับสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารพิษไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดเมื่อสารพิษถูกสะสมมากขึ้น สารพิษบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง จึงสามารถชักนำให้เกิดเป็นมะเร็งได้ โลหะและโลหะหนักบางชนิดไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็งแต่ทำลายระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น สารปรอททำลายระบบประสาท โดยเฉพาะทารกในครรภ์ถ้าได้รับสารปรอทจะทำให้มีสติปัญญาต่ำ มีพัฒนาการต่ำกว่าอายุจริง นอกจากนี้สารเคมีหลายชนิดทำลายตับและไต สารพิษบางชนิดทำให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่เป็นปกติ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้
หากคนไทยไม่ช่วยกันดูแลทะเลให้สะอาด  ทิ้งขยะของเสียต่างๆ ไม่ช่วยกันเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งสารเคมีและน้ำเสียลงทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ ในที่สุด คนไทยต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติอาหารจากสารพิษ และการเผชิญวิกฤติสารพิษในอาหารในอนาคต  แม้แต่ฉลามยังรังเกียจคนเลย หุหุ


Tuesday 2 October 2012

อย่าหลงเชื่อว่าสมุนไพรไม่มีโทษ


by meepole
ยาสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะขึ้นชื่อว่าสมุนไพร หลาย ๆ คนก็มักจะเชื่อว่ามีแต่ประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น เพราะมีสรรพคุณดี ๆ หลายอย่าง แถมยังมาจากธรรมชาติล้วน ๆ อีกด้วย แต่ความจริงก็คือไม่ว่าอะไรถ้ามากเกินไปหรือไม่ถูกโรคก็ให้โทษกับร่างกายได้เหมือนกัน เป็นดาบสองคม มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ได้เช่นกัน รวมไปถึงพวกสมุนไพรด้วย

  ปัจจุบันสมุนไพรถูกนำมาผลิตในรูปแบบต่างๆให้ทานได้ง่ายขึ้น มีทั้งทานสดๆ ต้ม เป็นผง ลูกกลอน แคปซูล หรืออัดเม็ด โดยนิยมกินเป็นประจำทุกวัน เป็นแรมเดือนแรมปี สิ่งที่ควรต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกกินสมุนไพรชนิดใดๆไม่ว่าจะสูตรไหนให้คำนึงเรื่องต่อไปนี้

1. ตัวเรามีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องกินสมุนไพรชนิดนั้นๆ อย่ากินตามที่ขาบอกว่ากินแล้วอะไรๆก็จะดี เพราะสมุนไพรทุกชนิดไม่ไช่ยาครอบจักรวาล ควรศึกษาให้ดีด้วยว่าเหมาะในการรักษาหรือป้องกันโรคแบบไหน

2. ร่างกายเรามีโรคประจำตัวอะไรที่ไม่เหมาะกับสมุนไพรชนิดนั้นๆหรือไม่ หากใช้ไม่ถูกเรื่องแทนที่จะรักษาโรคหนึ่งๆ กลับไปทำให้เกิดโทษกับอวัยวะอื่นๆ จึงต้องศึกษาผลข้างเคียงของสมุนไพรนั้นๆด้วย ยกตัวอย่างกรณีศึกษา

            ผู้ป่วยเบาหวานรายหนึ่งเล่าว่ากินยาเบาหวานมาหลายปี ก็ไม่เคยมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรง ต่อมาทราบจากคำเล่าลือว่ามะรุมสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้  จึงซื้อมะรุมชนิดเม็ดกินเสริมไปวันละ ๒ ครั้งๆ ละ ๒ เม็ด พอกินไปได้ ๑๐ กว่าวัน ก็เกิดอาการเป็นลม หน้ามืด ไม่ค่อยรู้สึกตัว ญาติพาส่งโรงพยาบาล

            แพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิน สันนิษฐานว่าอาจเป็นไปได้ที่มะรุมมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด จึงเสริมฤทธิ์ยาเบาหวานที่กินอยู่เดิมจนน้ำตาลในเลือดลดต่ำถึงขั้นอันตรายได้
     จากรายงานความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง พบว่าทำให้เกิดการแท้ง ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ส่วนต่างๆ ของมะรุมในสตรีมีครรภ์

 3. จะกินต่อเนื่องนานเท่าใด ควรกินในปริมาณเท่าใด เพราะยาสมุนไพรหลายชนิดไม่ไช่ยาสังเคราะห์เคมีที่สามารถรักษาโรคหนึ่งๆได้รวดเร็ว ดังนั้นส่วนมากแล้วจะเห็นผลได้ต้องกินติดต่อยาวนาน ไม่ว่าจะเพื่อป้องกันหรือใช้รักษาก็ตาม แต่การกินสมุนไพรบางชนิดติดต่อกันยาวนาน จะส่งผลลบต่อสุขภาพก็มี ยกตัวอย่างกรณีศึกษา

             สมุนไพรที่มีการยืนยันทางวิชาการว่ามีพิษต่อตับ ทำให้ตับอักเสบอีกชนิดหนึ่ง ก็คือ บอระเพ็ด ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด เมื่อทดลองให้ผู้ป่วยเบาหวานกินทุกวันก็พบว่าทำให้ตับอักเสบได้

              เคยมีการนิยมนำขี้เหล็กมาต้ม แล้วน้ำที่ต้มมาดื่มแทนน้ำเปล่าด้วยเชื่อว่าเป็นยาบำรุง พอดื่มไปได้ ๒-๓ เดือนก็เกิดอาการดีซ่าน ไปพบแพทย์ก็ตรวจยืนยันว่าเป็นตับอักเสบจากการดื่มน้ำขี้เหล็กต้มเช่นเดียวกัน

4. ควรศึกษาคุณและโทษของสมุนไพรนั้นๆ ไม่ว่าอะไรก็ตามในโลกนี้มีคุณก็มีโทษได้ การใช้ไม่ถูกวิธี การปรุงที่ผิดกรรมวิธี ย่อมส่งผลอันตรายหรือไม่เกิดประโยชน์อันใด

            เมื่อ 20-30 ปีก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท่านหนึ่ง มีเจตนาดีในการรณรงค์ปราบโรคพยาธิปากขอ โดยนำมะเกลือมาปรุงเป็นยาเป็นปริมาณหม้อใหญ่ๆ ซึ่งต้องเตรียมทิ้งไว้ค้างคืน

             โบราณจะเตรียมมะเกลือในปริมาณเล็กน้อย สำหรับแต่ละคนเท่านั้น และเมื่อเตรียมเสร็จก็ให้กินสดๆ ทันที ซึ่งก็ได้ผลในการรักษาโรคพยาธิปากขอ และไม่ได้เกิดผลข้างเคียงอะไร

            วันรุ่งขึ้นก็แจกจ่ายให้เด็กๆ ตามหมู่บ้านกินกันถ้วนหน้า คราวนั้นเกิดผลที่ตามมา คือ มีเด็กๆ หลายคนตามัวตาบอด เนื่องจากได้รับพิษภัยจากสารเคมีในมะเกลือที่กลายรูป เนื่องจากการตั้งทิ้งไว้ค้างคืน เพราะการเปลี่ยนมาเตรียมครั้งเดียวปริมาณมากๆ และทิ้งไว้ข้ามคืน สารเคมีในมะเกลือก็เกิดการกลายรูปเป็นสารใหม่ ซึ่งสามารถทำลายประสาทตาจนทำให้ตามัวตาบอด

5. หากกินสมุนไพรที่ผลิตขึ้น บรรจุในบรรจุภัณฑ์ ให้อ่านฉลากให้ดีก่อน ว่าผลิตจากแหล่งใด หมดอายุเมื่อใด สรรพคุณอย่างไร มีการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้หรือไม่

6. หากเป็นลูกกลอน ผง แคปซูล เมื่อเปิดใช้แล้วต้องเก็บในที่แห้ง ระวังความชื้น ที่ทำให้ขึ้นราได้ หากสงสัยว่าจะขึ้นราก็ไม่ควรกินเพราะ เกิดโทษอันตรายมากกว่า
 

 ดังนั้นก่อนจะเลือกใช้เลือกกินสมุนไพรอะไรก็ตาม ที่สำคัญต้องรู้ความจำเป็นในการที่ต้องกินต้องใช้ อย่าทำตามที่ใครๆแนะโดยไม่พินิจพิจารณา ต้องรู้โรคประจำตัวของตนที่มีอยู่ และไม่ควรกินต่อเนื่องติดต่อเป็นเวลานานๆ และหากจะทานเพื่อบำรุงร่างกายก็ควรหันมาทานผัก ผลไม้ ให้มากๆในรูปอาหารธรรมชาติ ตามวิถีที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติกันมาจะดีกว่าเพราะเป็นสมุนไพรที่มีเกลือแร่ วิตามินที่ร่างกายต้องการ และมีประโยชน์แน่นอน