by meepole
รู้จักน้ำกัดเท้ากันก่อน
โรคน้ำกัดเท้าไม่ไช่เพราะน้ำ (ที่ไม่มีปาก) กัดเรา หรือเป็นเพราะเท้าแช่น้ำ แต่โรคน้ำกัดเท้า เป็นผลจากการติดเชื้อราที่เท้า มักจะเป็นบริเวณง่ามนิ้วเท้า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อราที่ชื่อ Trichophyton rubrum เชื้อรากลุ่มนี้จะสร้างเอนไซม์ออกมาย่อย keratin ที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแตกเป็นแผล และมีอาการต่างๆตามมา
อาการที่พบได้ คือมีอาการคัน และมีอาการเจ็บบริเวณง่ามนิ้วเท้า บางครั้งจะพบเป็นตุ่มน้ำ หรือพบเป็นแผล ในผู้สูงอายุ อาจพบเป็นสะเก็ด และผิวหนังแห้ง บริเวณง่ามนิ้วเท้า จะแดง ลอก มีรอยแตก หรือมีสะเก็ด พบบ่อยที่สุดที่ระหว่างนิ้วกลาง นิ้วนาง และระหว่างง่ามนิ้วนางกับนิ้วก้อย บางคนที่มีแผล อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดในที่มีอากาศร้อนชื้น ภาวะน้ำท่วม แช่น้ำนานๆ หรือการใส่รองเท้าที่อับชื้นเป็นเวลานานๆ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น (ขอบคุณ http://www.komchadluek.net/)
การใช้ด่างทับทิมกับโรคน้ำกัดเท้า
ดังนั้นในช่วงน้ำท่วมที่เท้าเราต้องแช่น้ำเป็นเวลานานกว่าปกติ เท้าของแต่ละคนบอบบางไม่เท่ากัน บางคนเท้าหนา บางคนเนื้อบาง แต่ตรงที่บางมากของฝ่าเท้าคือ ง่ามนิ้วนั่นเอง น้ำกัดเท้าจึงมักเริ่มที่ง่ามนิ้วก่อน จะเห็นว่าเริ่มเป็นสีอมชมพู คัน และเปื่อยสลับกัน และเมื่อเกามากๆก็เกิดแผลที่มากขึ้น ลามไปทั่วและเป็นช่องทางให้เชื้ออื่นๆที่มากับน้ำโจมตีเข้าไปในร่างกายได้ง่าย ดังนั้นนอกจากจะพยายามสุดความสามารถที่จะไม่ให้เท้าแช่ในน้ำนานเกินไปแล้ว ก็พยายามทำให้เท้าแห้งโดยเร็ว หลังจากลุยน้ำ (ที่สกปรกแน่นอน) เมื่อเข้าที่พักให้พยายามล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วใช้แป้งเด็กกระป๋อง โรยง่ามเท้า รองเท้าต้องไม่อับ มีแดดหมั่นผึ่งแดดให้แห้ง
คุณผู้ชายที่ใส่ถุงเท้าต้องไม่ใส่ถุงเท้าที่เปียกชื้น ให้รีบถอดตากแห้ง และก่อนใส่ถุงเท้าเช็ดเท้าให้แห้งก่อน เพราะน้ำที่คุณย่ำอยู่ตอนนี้ล้วนน้ำสกปรกมากทั้งสิ้น ไม่ใส่ขณะที่เท้าชื้น ให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดก่อน หากเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้ว ไม่สบายเลย
หากตอนนี้เริ่มมีอาการเปื่อยคันที่เท้า และยังไม่มียารักษา (ตอนนี้ทราบว่าขาดชั่วคราว เภสัชจุฬา กำลังผลิตอยู่-ตามข่าว) ตอนนี้ก็ใช้ด่างทับทิมบรรเทาไปก่อน ดังนี้
ใส่ด่างทับทิมในกาละมังที่จะแช่เท้า ให้เป็นสีชมพูบานเย็น (ประมาณ 10 มิลลิกรัม/ลิตร) เตรียมสารละลายด่างทับทิมจนเป็นสีที่ให้มา(ดังรูป A) ขอย้ำว่าอย่าให้สีเข้มเกินจากรูปที่ให้มานี้ (อย่าลืมคนให้ละลายหมดก่อนจึงแช่เท้า) แช่นานครั้งละ 15 นาทีทุกเช้าและบ่าย (เอาเป็นว่าวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง ทิ้งระยะเวลาห่างกันหน่อย) ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วเท้าคุณจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลสักช่วงหนึ่ง แต่อย่ากังวลนะคะ เพราะเชื้อราที่วุ่นวายกับขาคุณจะค่อยๆตายจากไป พร้อมกับสีน้ำตาลจะค่อยๆจางลงในเวลาไม่นานนัก ตอนน้ำลด meepole จะบอกให้ว่าจะแก้สีน้ำตาลได้อย่างไร
ภาพ (ซ้ายมือ รูป A )นี้เป็นสีของสารละลายด่างทับทิมที่ความเข้มข้น10 มิลลิกรัม/ลิตร (ขวามือ เป็นความเข้มข้น 20 มิลลิกรัม/ลิตร ..สีเข้มกว่า) ได้เตรียมสารละลายในห้องปฎิบัติการ เอาภาพมาให้เปรียบเทียบดูสีกันค่ะ
meepole ต้องขอขอบคุณ ผศ.ดร.รัตนา วงศ์ชูพันธ์และคุณณัฐพันธ์ สงวนศักดิ์บารมี นักวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี ที่ร่วมด้วยช่วยกันเตรียมสาร เตรียมภาพนี้ส่งมาให้เพื่อใช้เทียบสีให้เข้าใจง่ายขึ้น (จะมีภาพแถบสีเทียบความเข้มข้นของด่างทับทิมใช้เทียบในบทความต่อไปค่ะ)
นอกจากจะช่วยให้สะอาดแล้ว หากมีบาดแผลอื่นๆสารละลายด่างทับทิมยังช่วยบรรเทาอาการปวด ทำให้แผลหายเร็ว และลดการอักเสบได้
หากน้ำลดและสามารถออกมาหาซื้อยารักษาได้ก็จะดีนะคะ อย่าปล่อยให้ลามขยายกว่าที่เป็น
ข้อระวังการใช้
ไม่ให้สารละลายด่างทับทิมเข้าตา ดังนั้นไม่ควรใช้สารละลายด่างทับทิมล้างหน้านะคะ และผู้หญิงมีครรภ์การใช้สารละลายด่างทับทิมต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ท้ายสุดนี้ยังไงก็อย่าลืมนะคะว่า ห้ามใช้มือเปล่าหยิบด่างทับทิมเป็นอันขาด อันตรายค่ะ
ช่วงนี้ยามที่อะไรๆก็ยังไม่ลงตัวก็ดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรง คนที่น้ำไม่ท่วมบ้านก็ช่วยบอกต่อไปยังคนที่ประสบปัญหาด้วย ถือว่าจะได้ร่วมด้วยช่วยกันในยามนี้ บอกต่อ ก่อบุญค่ะ
คราวหน้าจะเป็นเรื่อง การใช้ด่างทับทิมในการฆ่าเชื้อชนิดต่างๆในน้ำ (อาจเป็นวันอังคาร เพราะตอนนี้ต้องเตรียมตำราสอนนศ.อาทิตย์หน้า)
อ้างอิง
http://webdb.dmsc.moph.go.th/
http://miniscience.com
http://www.medicinenet.com/