Friday 11 November 2011

น้ำท่วม: อย่าประมาท..เมื่อน้ำดื่ม (ประปา) ไม่ปลอดภัย

by meepole

จากข่าวที่รายงานว่า ..ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.นนทบุรี จากการสอบสวนพบผู้ป่วย 72 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือการดื่มน้ำประปาโดยไม่ได้ต้มสุก ซึ่งสอดคล้องกับน้ำประปาในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพต่ำ....” (http://www.matichon.co.th/วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554)

หลังจากนั้นมีการชี้แจงออกมา  ดังข่าว
กปน. เตือนให้ระวังน้ำท่วมเข้าถังพักน้ำใต้ดิน ยันท้องเสียไม่ได้เกิดจากน้ำประปา
นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) แจ้งว่าตามที่มีข่าวว่ามีผู้บริโภคน้ำประปาแล้วเกิดการท้องเสีย กปน.ขอชี้แจงว่าที่ผ่านมาแม้ว่าคุณภาพน้ำประปาในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมเข้าคลองประปา จะมีกลิ่นและสีผิดจากปกติ แต่ยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะได้เพิ่มการตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพน้ำทั้งในระบบน้ำดิบและการผลิตน้ำ โดยเพิ่มการใช้ด่างทับทิม POWER ACTIVATED CARBON หรือถ่านกัมมันต์ และคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ มั่นใจว่าปลอดภัย และอยู่ในมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด จึงไม่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้  ที่ผ่านมาน้ำประปา ก็ไม่เคยตรวจพบเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารใดๆ รวมถึงปริมาณโครเมียม แคดเมียม และตะกั่ว ในคลองประปา ก็ยังตรวจพบว่าดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ขณะนี้กปน.ได้ปรับปรุงคุณภาพน้ำและกระบวนการผลิตน้ำประปาจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ…"
ไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธ น่าเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ความจริงก็คือชาวบ้านท้องร่วงกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็แสดงว่าทุกคนในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการบริโภคเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตน้ำท่วมหรือไม่ หากจะมองว่าเป็นผลมาจากน้ำดื่ม ไม่ว่าจากน้ำประปาหรือน้ำบรจุขวดก็มีโอกาสที่จะเป็นสาเหตุของท้องเสียได้ทั้งสิ้น หากน้ำดังกล่าวนั้นปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค อาจเป็นด้วยขบวนการผลิต

แม้ว่าจะยืนยัน หรือนั่งยัน เอานายกฯมายันว่าน้ำที่ผลิตจากการประปานั้นได้มาตรฐาน เอาไปพิสูจน์กันที่ต้นทาง ก็เลยไม่เข้าใจว่า คิดไม่ได้หรือคิดไม่ถึง เพราะน้ำที่เขาร้องเรียนว่าขุ่น ไม่สะอาด อยู่ที่ระหว่างทาง หรือปลายทาง ซึ่งในระหว่างทางท่อใต้ดินอาจรั่วเป็นจุดๆ หรือชำรุดทำให้มีการซึมเข้าไปของดิน โคลน สารปนปื้อน จุลินทรีย์ต่างๆ ทำให้น้ำไม่ได้มาตรฐานดังจุดเริ่มต้น

 ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ควรประชาสัมพันธ์ เตือนชาวบ้านว่ายังไงๆช่วงนี้ขอให้พยายามต้มน้ำก่อนดื่ม ไม่ต้องไว้ใจและภาชนะที่บรรจุน้ำดื่มก็ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดเช่นกัน  หากน้ำมีการปนเปื้อนสามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV และผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานต่ำก็มีโอกาสเสี่ยงสูงเช่นกัน

แม้ว่าโดยปกติแล้วร่างกายของคนเรามีระบบป้องกันและระบบภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้นสามารถติดเชื้อได้ง่าย
การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร (GI) ที่พบในน้ำดื่ม รวมถึงเชื้อปรสิต เช่น เชื้อคริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium) และเชื้อไกอาเดีย (Giardia) แบคทีเรียเช่น เชื้ออีโคไล (E. coli) เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) และเชื้อชิเกลลา (Shigella) และเชื้อไวรัส เช่น เชื้อนอร์วอล์ค (Norwalk)

ขอย้ำว่า การบริโภคน้ำดื่มที่ไม่สะอาด การป้องกัน คือ ควรดื่มน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว หากมีความขุ่น ใช้สารส้มแกว่งเล็กน้อย วางทิ้งไว้ ให้ ตกตะกอน  ค่อยๆริน ส่วนใสด้านบนออกมา แล้วนำมาต้มให้เดือด เดือดแล้วต้มต่ออีกอย่างน้อย 10-15 นาที นะคะ  กรณีน้ำประปาขุ่นชัดเจน หรือมีสีคล้ำ meepole ไม่แนะนำให้เราใช้คลอรีนเติมอีก แม้ว่ากปน.จะเป็นผู้เติมอยู่แล้วหรือเติมไม่เพียงพอก็ตาม เพราะผลที่เกิดขึ้นอาจได้สิ่งไม่พึงประสงค์ที่อันตรายกว่าท้องร่วงเสียอีก (ขอยกไปเขียนวันหน้า เพราะต้องเขียนให้เข้าใจชัดเจนจริงๆ เชื่อเถอะค่ะหวังดีจริงๆ) และหากน้ำประปาที่ออกมามีกลิ่นคลอรีนก็ควรวางทิ้งไว้จนกลิ่นระเหยหมดก่อนจึงนำมาใช้

หากอยากจะทานน้ำแข็งก็เลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกหลักอนามัยไว้ใจได้ แต่ช่วงแบบนี้ meepole ขอบอกว่าควรเลี่ยงงดทานน้ำแข็งดีกว่า
หากทำอะไรไม่ได้มาก หรือไม่รู้จะทำยังไงดีกับน้ำดื่ม ก็ไม่ต้องทำอะไร ท่องไว้คำเดียว ต้มๆๆๆๆ ตอนนี้คงต้องบ้านใครก็บ้านคนนั้นที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะท้องร่วงบางครั้งอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว
คราวหน้าจะเอาเรื่องน้ำบรรจุขวดก็อาจไว้ใจไม่ (ค่อย)ได้ มาให้อ่านค่ะ
เข้าไปอ่านพบเรื่องจากกปน.เลยเอามาลิงค์ไว้เผื่อเกิดประโยชน์ในบางข้อ แต่กรณีการเอ่ยอ้างหน่วยงาน หรือรับรองผลการตรวจสอบน้ำเหล่านั้นว่าไม่มีสารพิษเชื้อโรค อันนี้ส่วนตัวในฐานะอาจารย์ผู้สอนพิษวิทยา ชีวเคมี นักวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อว่าถูกต้องค่ะ ทุกอย่างอยู่ภายใต้ ข้อจำกัดเงื่อนไขทั้งสิ้น ดังนั้นช่วงน้ำท่วมขังเช่นนี้ อย่างไรให้ระวังให้มาก ระเหยคลอรีนให้หมด แต่กระนั้นสิ่งที่meepole กังวลในน้ำนั้นไม่สามารถระเหยได้ค่ะ
ข้อแนะนำการใช้น้ำประปาในภาวะน้ำท่วม (กปน.) http://health.kapook.com/view32701.html