Friday 2 December 2011

น้ำท่วม: การกำจัดราในบ้าน 2

การกำจัดราในบ้าน1
โดย meepole

ที่มาภาพ carpetvalle.com

(ต่อ) ..การกำจัดรามีหลายวิธี (ขอเขียนแบบครูวิทย์ก่อน)  แต่แบ่งเป็นสองขั้นตอนคือ
  • กำจัดโดยใช้อุปกรณ์ และ
  • กำจัดโดยใช้สารเคมี
 วันนี้จะเรื่มด้วยขั้นตอนแรกก่อนคือ กำจัดโดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ

 เมื่อคุณเห็นรา ตรงใหน เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ดังนี้ก่อน
  1. กระดาษหนังสือพิมพ์เยอะๆ
  2. กระดาษ tissue แผ่นใหญ่ หนาก็ดี
  3. หน้ากาก (แบบที่ปิดกันหวัด) หากไม่มีใช้ผ้าเช็ดหน้าแทน
  4. ถุงกอบแกบที่ใช้แล้ว( reuse ก่อนทิ้ง)
  5. ถุงมือ (ถ้าเป็นคนแพ้สารง่าย)
  6. น้ำเปล่า
เงื่อนไข กรณีที่เขียนนี้ ผู้เขียนตั้งธงไว้ว่า เป็นราในชายคาบ้าน และมีค่อนข้างเยอะพอควร ดังนั้นจึงเตรียมการทุกอย่างเพื่อความปลอดภัยสูงสุด (สัญญาณสีส้ม) จะได้ไม่ติดเชื้อจากราในภายหลัง ดังนั้นถ้ารามันไม่มากแค่จิ๊บๆ ก็ทำแบบจิ๊บๆ ย่อลงตามส่วนนะคะ เดี๋ยวจะว่า ขี่ช้างจับตั๊กแตน

 เราจะทำกัน 2 ขั้นตอนคือ ทำความสะอาด และ ฆ่าเชื้อรา (อ่านแล้วดูโหดไปหน่อย  แต่จำเป็น)
 เราจะเริ่มที่ขั้น   ทำความสะอาดก่อน
  1.  แรกสุดที่ต้องคิดถึง คือกำหนด "รา cleaning day" (ทำงานให้เป็นสุข สนุกกับการทำงาน)  ดูว่าราขึ้นมากไหม (บริเวณกว้างไหม) และมันเพิ่งขึ้น หรือมันนานพอควรแล้ว  รู้ได้ยังไง ...ก็ดูว่าฟูมากไหม เป็นขยุ้ม หรือเป็นจุดเล็กๆ อันนี้จำเป็น แล้วแต่ละสภาพแวดล้อมที่ทำ ถ้าเป็นในห้องน้ำมักจะเป็นพวกไม่ฟู ถ้าเป็น อาหาร  ไม้ โดยเฉพาะ particle board ที่เป็นส่วนของเฟอร์นิเจอร์ จะฟู (ถ้าขึ้นมาเกิน 1 สัปดาห์แล้ว)
  2.  สำรวจความพร้อมของคณะทำงานและผู้ช่วยก่อน ถ้ามีรามาก และฟู และคุณมีสภาพร่างกายที่มีความเสี่ยงแบบที่กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ ก็ควรใส่ที่ป้องกัน สวมหน้ากากกันหวัดนั่นล่ะ ถุงมือพลาสติกที่มีขายตามสรรพสินค้าทั่วไปหรือเป็นถุงมือแพทย์ก็ได้ ถ้าฉุกเฉินจริงๆหาไม่ทัน เอาของที่มีทุกบ้านมาใช้แทน คิดออกไหมเอ่ย!!!  ถุงกอบแกบขนาดเล็กเอามือใส่เข้าไป แล้วเอาห่วงยางรัดก็จะได้ถุงมือแบบไม่มีนิ้ว เก๋ไปอีกแบบ  เสื้อผ้าที่สวมใส่เอาที่รัดกุมหน่อย อย่ากรุยกรายมากนักเดี๋ยวยังไม่ทันทำความสะอาด แขนเสื้อ ชายเสื้อ จะไปกวาดแทนหมด
  3. ดูพื้นที่ๆเราจะจัดการก่อนว่าราขึ้นที่ไหน สภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเป็นอย่างไร เช่นแห้ง ชื้น เปียก
  4. สำรวจบริเวณที่จะทำความสะอาด ว่ามีของเกะกะ หรือของใช้อื่นๆอยู่ใกล้หรือไม่ เช่นเฟอร์นิเจอร์ โซฟา หมอนหนุน อยู่ในบริเวณเดียวกัน หากมันขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่งที่เป็นจุดร่วม ต้องค่อยๆหยิบออกมาวางทีละชิ้นแล้ว clear เพราะจะถือว่าทุกส่วนกระทบหมดคือ อาจมีรา เพราะรามีลักษณะเป็นเส้นใยมันสามารถชอนไช แผ่ขยายเหมือนตาข่าย เพราะฉะนั้นถ้าจะทำความสะอาดที่จุดใดต้องจัดการบริเวณไกล้เคียงด้วย บริเวณอื่นก็ใช้หลักการเดียวกัน ไม่งั้นมันจะเหลือพรรคพวกเตรียมซุ่มรอก่อการร้ายได้อีก เมื่อสภาพแวดล้อมรู้เห็นเป็นใจ  
  5. สังเกตพื้นผิวที่จะกำจัดก่อนว่าพื้นเรียบหรือขรุขระหรือมีรูพรุน (วัสดุมีรูพรุนหรือน้ำซึมได้ดี เช่น ฝ้า แผ่นฉนวน พรม เสื้อผ้า กระดาษ หนังสือ ) หรือไม่ซึมน้ำ เช่น แก้ว โลหะ พลาสติกแข็ง หรือซึมได้เล็กน้อย เช่น ไม้ คอนครีต
  6. กำหนดบริเวณที่ทำความสะอาด แล้วหากระดาษหนังสือพิมพ์มาปูรอบๆ (ติด) พื้นบริเวณนั้น ๆ (กรณีในบ้าน) แล้วสเปรย์น้ำหมาดๆลงบนกระดาษ (ก่อนจัดการรา)  ถ้าเป็นห้องนอนต้องหาผ้ามาคลุมเตียง
  7. เอาถุงกอบแกบ ใบใหญ่หน่อยชนิดที่เอาของทุกอย่างทิ้งในถุงนั้นได้หมด โดยไม่ต้องคอยขยับถุง (กระเทือน) มาวางใกล้ 
  8. อย่าเปิดพัดลม เพราะอาจเป็นตัวกระจายสปอร์ให้ฟุ้งไปทั่วอีก
   พร้อมแล้วนะคะ    ลงมือลุย
  • จากข้อ3  ถ้าพื้นที่ที่ราขึ้นแห้ง ห้ามเช็ดแบบแห้งเป็นอันขาดเพราะถ้ามีสปอร์มันจะฟุ้งล่องลอย ไปเที่ยวรอบห้อง หรือไม่ก็เข้าจมูก ปาก ตาของเรา อันตรายอีก ดังนั้น ต้องทำให้มันชื้นเล็กน้อย โดยใช้กระดาษ tissue มากๆหลายๆชั้น ชุบน้ำ หมาดมากๆ ไม่ต้องเปียกแฉะ ปกติควรใช้ tissue ขนาดแผ่นใหญ่ที่เป็นม้วน มันจะหนาดีมาก
  • แล้วเช็ดจากล่างขึ้นบน  (ซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้ายก็ไม่ ได้) นี่กรณีราขึ้นฟู นะคะ ถ้าไม่ฟูก็ตามใจถนัด
  • เช็ดทีเดียวทิ้งทุกครั้ง ไม่มีการซ้ำ อย่าประหยัด !!! เอาถุงกอบแกบตามติดไว้ใส่กระดาษที่เช็ดเชื้อทิ้งทันที อย่าวางกองบนพื้น
  • เตรียมน้ำสบู่เหลว เอาแบบที่บอกว่าฆ่าเชื้อหรือธรรมดาก็ได้  ผสมน้ำเล็กน้อย  เช็ดซ้ำอีก
  • เสร็จก็ใช้น้ำเช็ดซ้ำ คราวนี้เช็ดยังไงก็ได้ ตามใจชอบ
 ทำความสะอาดเสร็จ นั่งพักก่อนได้ ถ้าเหนื่อย เพราะขั้นตอนต่อไปจะเป็นการฆ่าเชื้อรา
(ต่อตอนต่อไป)