Thursday, 1 December 2011

น้ำท่วม: อันตรายของเชื้อราในบ้าน 1

เรื่องนี้ mepole เขียนลงในเครือข่ายแห่งหนึ่งตอนน้ำท่วมภาคใต้ปีที่แล้ว บ้านเพื่อนที่หาดใหญ่ราขึ้นเต็ม เลยโทรมาสอบถามวิธีจัดการกับรา ทำให้ต้องคิดเขียนขึ้นมา  และตอนนี้เห็นว่ามีข่าวปัญหาของราเกิดอีกครั้ง จึงเอามาลงใหม่ แต่สามารถหาอ่านเร็วๆได้โดยพิมพ์ "meepole รา" ใน google ก็จะเจอ มีหลาย version ที่เดลินิวส์เอาไปลงก็มีนั่นตอนเดียวจบ ฉบับย่อ บอกต่อกันไปให้เอาไปใช้นะคะ หากมีเวลาอาจจะเขียนเพิ่มเติมอีกค่ะ ตอนนั้นเขียนก็ฉุกเฉินเช่นกัน ก่อนกำจัดรา มารู้จัก "รา" สักหน่อย จะได้ระวังมากขึ้นไม่ประมาท

อย่ามองข้ามความปลอดภัย... อันตรายจากเชื้อราในบ้าน
โดย meepole


ทุกคนคงรู้จักและเคยเห็นรากันตามแหล่งต่างๆ ส่วนมากเมื่อพบเห็นรา บางคนก็ไม่รู้สึกอะไร ก็เห็นแค่เป็น "รา" เรื่องจิ๊บๆ  (เอ ...ปล่อยวางมากไปรึเปล่า??)  เพราะเราอาจคิดว่ามันไม่ไช่เชื้อโรค จึงไม่น่ากลัว ไม่เหมือนพวกแบคทีเรียหรือไวรัส  คิดผิดคิดใหม่ได้ค่ะ  จริงๆแล้ว ราเป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ที่อันตราย เพราะ มันเป็น "เชื้อรา"  แต่ราบางชนิดก็มีประโยชน์ใช้ทำยา ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น แต่ที่จะเขียนถึงต่อไปนี้แน่นอน มันเป็น ราผู้ร้าย

เชื้อราไม่น่าคบ
รามีหลายประเภท (species) และแต่ละชนิดก็มีผลต่อสุขภาพแตกต่างกัน และที่แน่นอนคือเมื่อมีราเกิดขึ้นไม่ว่าส่วนใดของบ้าน ต้องกำจัดออก ไม่ต้องคิดเมตตาปราณีเป็นอันขาด

อันตรายของรา..ต่อสุขภาพ
หลายคนอาจยังเข้าใจว่าเชื้อราก่อให้เกิดโรคเฉพาะผิวหนังภายนอก  เช่น กลากเกลื้อน เชื้อราที่มือและเท้า เป็นต้น แต่ความจริงแล้วมันลุยเข้าไปในตัวเราได้มากกว่าที่คิด ตับ ไต ไส้พุง ระบบน้ำเหลือง มันเที่ยวไปรังควานซะทั่ว... ซนจริงๆ

เชื้อราเส้นเล็กๆนี่ อันตรายกว่าที่คิดแน่นอน เพราะอาจส่งผลต่อการเกิดภูมิแพ้ และเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคปอดอักเสบ บางชนิด สามารถผลิตสารพิษที่เรียกว่า mycotoxin ซึ่งมีพิษมาก และถูกสงสัยว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ด้วย  มีผลต่อภูมิคุ้มกันบกพร่อง ราบางชนิด เช่น กลุ่มราบางชนิดที่ชอบขึ้นบนพรมที่ชื้น ทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ มีเลือดออกภายใน เกิดแผลในกระเพาะ และอีกชนิดที่รู้จักกันดีคือ กลุ่มเพนนิซิเลียม ที่พบได้ทั่วไปในดิน อาหาร ขนมปัง ธัญพืช หรือมักพบบนผนังฝาบ้าน พรม วอลเปเปอร์ที่ชื้น พวกนี้จะทำให้มีอาการหอบหืด โรคปอดอักเสบภูมิไวเกิน 

ราพวกนี้บางชนิดเข้าปอดโดยการหายใจ ทำให้มีการติดเชื้อแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะไกล้เคียง เช่น ตับ ม้าม กระดูก ตลอดจนเข้าไปในระบบน้ำเหลือง และตายได้ บางกลุ่มทำลายตับ ไต

จริงๆแล้วมีกลุ่มรามากกว่านี้ซึ่งปล่อยสารพิษอันตรายได้อีกหลายชนิด  ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการผลิตสารพิษของรา และก็ยังคงมีการศึกษาอยู่ต่อไป  แต่เพียงตัวอย่างที่ยกมานี้คงทำให้สามารถตระหนักถึงอันตรายของรา บ้างนะคะ   อย่ามองข้ามความปลอดภัย

เราได้รับเชื้อรา ทางใหนบ้าง
ได้ทุกทางเลย หน้าต่าง ประตู...:) เรารับเชื้อราได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่นจากการสัมผัส มือไปโดน (โดยเฉพาะเด็กๆที่ไม่รู้อะไร เอามือไปสัมผัสแล้วหยิบขนมเข้าปาก มือเคะจมูก เป็นต้น) ทางจมูก โดยการหายใจ พบว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจ ถ้าได้รับสปอร์เข้าไปในปริมาณน้อย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็สามารถจัดการได้ ถ้าได้รับสปอร์เข้าไปในปริมาณมากเกินกว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะจัดการได้ ก็จะทำให้เกิดโรคได้ถ้าสูดเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าไป

หลีกเลี่ยงที่จะถูกโจมตีโดยรา..ใครคือกลุ่มเสี่ยง
เนื่องจากเชื้อรามีอยู่ทั่วไปในอากาศโดยเฉพาะสปอร์ล่องลอยเที่ยวไปเรื่อยๆ ดังนั้นคนที่มีปัญหาเป็นโรคภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงบริเวณเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อรา หรือบริเวณที่มีเชื้อราอยู่มากเช่น บริเวณที่มีฝุ่นละอองเยอะ บริเวณที่มีคนอยู่หนาแน่น การระบายอากาศไม่ดีทำให้สปอร์ของเชื้อรากระจายอยู่บริเวณนั้น

อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน เช่น คนที่เป็นโรคเอดส์ โรคมะเร็ง ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่กำลังมีการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์และเคมีบำบัด กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด เช่นคนที่เป็นโรควัณโรค หรือ cystic fibrosis เป็นต้น

รู้อย่างนี้แล้วคงต้องหาเวลาตรวจส่วนต่างๆของบ้าน ว่ามีราแอบแฝงที่ส่วนใดบ้าง ห้องน้ำ ผ้าม่าน พรม หน้าต่าง เบาะนั่ง หมอน ผนังห้อง หวี เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เสื้อผ้า  กระเป๋า (เกือบหมดบ้านหรือยังล่ะนี่!!) ถ้าพบมีครบทุกอย่างที่บอกมานี่สงสัยย้ายบ้านดีกว่า.......ไม่ไหวจะเคลียร์   (ไม่ได้บ้านแพง ต้องสู้ !สู้ !   สู้! รา ) เพราะบางครั้งที่คนในบ้าน เด็กเล็ก ป่วยหอบหืด ภูมิแพ้ อาเจียน ไข้ โดยไม่มีสาเหตุ และนำไปสู่โรคต่างๆข้างต้นได้  แม้กระทั่งผู้ใหญ่หากร่างกายอ่อนแอ ก็จะมีอาการดังกล่าวเช่นกัน โดยอาจจะมาจากสิ่งเล็กๆที่เรียกว่า "รา" นี่เอง

ตอนหน้านี่เอาเรื่องที่ง่ายๆก่อนคือ ราขึ้นเฟอร์นิเจอร์ ตู้เสื้อผ้า etc.จะทำไงดี ??

Ref.
Christon J. Hurst (editor), Ronald L. Crawford, et al., (2002). Manual of Environmental Microbiology 2nd ed ASM Press ,USA.
Ryan KJ; Ray CG (editors) (2004). Sherris Medical Microbiology (4th ed.). McGraw-Hill Companies, Inc. USA.
www.doctorfungus.org