Tuesday 6 December 2011

น้ำท่วม: ปฏิบัติการ... ฆ่าเชื้อรา 3

ปฏิบัติการ... ฆ่าเชื้อรา  ในที่สุดก็ถึงวัน Killing Day



รูป เส้นใยของรา (hypha)  ที่มาภาพ: envirovantage.com

โดย meepole
หมายเหตุ: ก่อนจะทำขั้นตอนต่อไปนี้ กรุณากลับไปอ่านคำเตือนตอนก่อนหน้านี้ก่อนนะคะ

 อย่างที่ได้บอกในตอนที่แล้วแล้วว่า รามีหลายหลายกลุ่ม ประเภท  (species) มีทั้งที่เกิดประโยชน์ และให้โทษ แต่ละชนิดมีปัจจัยสำหรับส่งเสริมการเจริญเติบโตได้ไม่เหมือนกัน เหมือนคนที่ลางเนื้อชอบลางยา และมีอันตรายต่อสุขภาพได้แตกต่างกัน แม้ว่าคนบางคนอาจไม่แพ้กลิ่นรา ไม่เป็นภูมิแพ้ แต่หลายคนที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อราแบบต่างๆที่อาจไม่รู้ตัวเช่น ในลักษณะของการมีอาการอ่อนเพลีย และซึมเศร้าหดหู่โดยไม่มีสาเหตุ

นอกเหนือจากอันตรายที่เคยกล่าวมาแล้วในตอนที่แล้ว  นั่นหมายความว่าเราคงจะละเลยปล่อยให้ราหายไปเองไม่ได้ เพราะจริงๆมันไม่ได้หายไปใหน มันมีสปอร์ก็ล่องลอยไปเที่ยวตามที่ต่างๆในบ้าน หรือนอนรอคอยที่เดิมเพื่อรอฝ่ายสนับสนุนคือความชื้น ในโอกาสต่อๆไป ดังนั้นนอกจากทำความสะอาดแล้ว ก็ต้องกำจัดคือฆ่าเชื้อรา

เชื้อราฆ่าได้ จริงหรือ ??
ฆ่าได้แน่นอน แล้วแต่ชนิด และวิธีการ ในห้องปฏิบัติการจริงๆจะมี เครื่องนึ่งความดันสูงๆ นั่นเขาฆ่าแบบไม่ได้เกิดใหม่อีก ของเราแบบบ้านๆก็จะทำได้ในระดับที่ตายไปแล้ว อาจฟื้นได้อีก แต่หากทำดีๆก็จะหายนานมากจนลืมไปทั้งคนทั้งรา  และบางชนิดที่ใจเสาะตายแล้วตายเลยไม่มาอีก บางชนิดก็ขึ้นกับพื้นผิววัสดุ เพราะถ้าเป็นพวก particle board แบบเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลาย  จะมีความหนา และราสามารถซ่อนตัวอยู่ใต้ผิวลึกลงไป แบบนี้มันก็อาจจะขึ้นได้อีกเพราะมันยังไม่เคยตาย มันก็ไม่ตาย

  คำเตือน การทำความสะอาดต้องสวมใส่อุปกรณ์ต่างๆที่เคยกล่าวมาแล้ว เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ทุกอย่างอยู่ในดุลพินิจของท่าน

สารที่จะใช้ฆ่าเชื้อรามีอะไรบ้าง ??

 สารที่จะบอกต่อไปนี้จะเป็นสารที่มีทั้งที่ อันตรายน้อย และอันตรายปานกลาง (ที่อันตรายมากขอเซ็นเซอร์  กลัวว่าเตรียมพลาด หรือใช้ไม่ระวังแล้วจะอันตรายมากกว่ารา เพราะไม่ไช่นักเคมีพันธุ์แท้ เวลาเตรียมผสมควรทำในตู้ควัน เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ) เอาที่แม่บ้านพ่อบ้าน ลูกบ้านทำกันเองได้ในบ้านก็แล้วกัน

สารที่ค่อนข้างปลอดภัย มี 3 ชนิด (“สารทุกชนิดเป็นสารพิษ ไม่มีสารใดเลยที่ไม่มีพิษ  ปริมาณที่รับเข้าสู่ร่างกายเป็นสิ่งที่แยกว่าสารที่เข้าสู่ร่างกายนั้นเป็นพิษหรือเป็นประโยชน์” ) พาราเซลซัส (Paracelsus :1493- 1541)  -ขออนุญาตแอบเอาวิชาพิษวิทยาที่meepole สอนมาเหยาะใส่นิดหนึ่ง

 1.น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชู สูตรกลั่นหรือหมักก็ได้  (ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 7 %) ถ้าเข้มข้นน้อยเกินรามันจะหัวเราะเอา แต่หมักน่าจะเก็บไว้รับประทานจะดีกว่าเสียดาย  แบบกลั่นราคาถูก (เวลาแนะเพื่อนก็เอาแบบนี้) ทุกรายจะบ่นกลับมาเหมือนกันหมด คือเหม็น (จริงๆมันไม่เหม็นหรอก มันหอมฉุนไปหน่อยและค้างอยู่นานกว่าแอลกอฮอล์ (เพื่อนรายที่หาดใหญ่บ่นมาว่า 2 วันแล้ว กลิ่นยังลอยไปลอยมาในบ้าน ก็เพราะเป็นราทั้งบ้านเลยเช็ดทั้งบ้านก็คงต้องทน ..มันเป็นเช่นนั้นเอง บอกแล้วว่าให้แบ่งทำ ก็ไม่ยอมจะลุยวันเดียว) คงไม่กินผัดเปรี้ยวหวานไปอีกนาน :)

 วิธีการใช้ เทน้ำส้มสายชูออกจากขวดใส่กระดาษทิชชู หมาดๆ (ไม่แนะนำให้ใช้ผ้าเพราะใช้แล้วต้องซัก ไม่ดีแน่ เอาแบบใช้แล้วทิ้งปลอดภัยกว่า)  หรือใส่ขวดสเปรย์ก็ได้ สเปรย์ตั้งทิ้งไว้สัก 5-10 นาทีแล้วก็.............เช็ดเลย
ข้อดี ราคาถูกสุด ถ้าราเต็มบ้านจะประหยัดได้
ข้อเสีย ไม่ฆ่าสปอร์ แต่ก็สามารถกำจัดได้ในระดับน่าพอใจ (80%) กลิ่นหอมฉุน (ถ้าชอบ)
ข้อแนะนำ  ถ้าแพ้กลิ่นน้ำส้มอาจใช้น้ำมันหอมระเหยอื่นๆ ผสมจะช่วยกลบกลิ่นได้

2.Tea tree oil
เป็นน้ำมันหอมระเหย (อาจหาซื้อได้ยากในจังหวัดเล็กๆ) หาซื้อได้ที่ร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพ  ใช้ 2 ช้อนชาในน้ำ 2 ถ้วย ใส่ขวดสเปรย์เบาๆ บนบริเวณที่ต้องการแล้วเช็ด เหลือเก็บใส่ขวดเก็บไว้ใช้ได้นาน
 ข้อดี เป็นสารธรรมชาติ ปลอดภัย ฆ่าราได้หลายชนิด มาก และราหลายชนิด go for good เลยล่ะ
ข้อเสีย  กลิ่นประหลาดๆ ถ้าไม่คุ้นก็บอกว่า เหม็นอีกตามเคย และก็ แพงๆๆๆๆ (ของดีและถูกคงหายากหน่อย)
แต่ใช้ไม่มากก็เห็นผล หาซื้อง่ายในตปท (ไม่ไช่ปตท)

 3.Grapefruit seed extract
 ใช้ 20 หยด ใส่ในน้ำ 2 ถ้วย ใส่ขวดสเปรย์เบาๆ บนบริเวณที่ต้องการแล้วเช็ด
อันนี้เหมือนกับ Tea tree oil ก็ต้องขยันหาซื้อหน่อย แต่ดีจริงๆ
ข้อดี เป็นสารธรรมชาติ ปลอดภัย ฆ่าราได้หลายชนิด และไม่มีกลิ่น
ข้อเสีย แพงๆๆๆๆ เช่นกัน

ตอนต่อไป จะเป็นสารเคมีที่ มีระดับอันตรายเพิ่มขึ้นค่ะ