Friday 23 December 2011

น้ำท่วม : ลดความชื้นควบคุมรา 7


by meepole
ตั้งใจสุดสัปดาห์จะเขียนรู้เท่าทันรา ที่น่าสนใจ เพราะหากเรายึดหลักการที่ว่ารู้เขารู้เรามีชัยไปกว่าครึ่ง แต่วันนี้มีงานด่วนต้องออกแบบปก และตกแต่งหนังสือ เข้าใจใน บุญ ทำไว้มุทิตาแจกวันคล้ายวันเกิดของพระอาจารย์ที่ meepole ครอบครัวและลูกศิษย์ทั้งหลายให้ความเคารพนับถือ และตั้งใจแจกทั้งปี เลยขอทำงานด่วนก่อน เพราะเรื่องรู้เท่าทันราต้องแปลจากหลายส่วน และเรียบเรียง ใช้เวลา แต่เพื่อไม่ให้ผิดความตั้งใจไว้ ขอเอาเรื่องง่ายๆที่เกี่ยวข้องกับราและสำคัญเสียด้วย คือ วิธีการลดความชื้นภายในบ้าน เพราะเรากำจัดรา ทำความสะอาดบ้านเรียบร้อยแล้ว อาทิตย์หรือสองอาทิตย์ถัดมา อาจจะต้องเหนื่อยใจอีกกับราที่ค่อยๆแอบจู่โจม ขึ้นมาตามสิ่งต่างๆ และส่วนต่างๆภายในบ้านอีก และในที่สุดก็ครอบครองบ้านเราให้เราปวดหัว เสียสุขภาพจิตกันอีก ดังนั้น หลังล้างบ้านแล้วสิ่งที่ต้องรีบทำก่อนทำอย่างอื่นคือ ต้องรีบลดความชื้นในบ้านให้น้อยลงทันที บางอย่างเราอาจมองข้ามไป

เรามาดูกันว่าอะไรเป็นสาเหตุ หรือที่มาของความชื้นได้บ้าง

กระดาษ (หนังสือต่างๆ  หนังสือพิมพ์ )
พรม ผ้าม่าน เสื่อน้ำมัน กระเบื้องยาง วอลเปเปอร์
ฝ้าบนเพดาน และวัสดุอื่นที่ดูดน้ำได้ดี
เฟอร์นิเจอร์ (ไม้เพาะปาร์ติเคิล จะอมน้ำมากกว่าไม้จริง)
ต้นไม้ในบ้าน ทุกประเภท (อยู่ในตัวบ้าน เช่นห้องนั่งเล่น ห้องนอน) แจกันดอกไม้ที่มีน้ำ
แหล่งน้ำเปิดในบ้าน (ถังเก็บน้ำในห้องน้ำแบบไม่ปิดฝา ชักโครก )

เนื่องจากเชื้อราเราพบได้ตามธรรมชาติเราไม่สามารถกำจัดได้หมด แต่เราสามารถป้องกันมิให้เชื้อราเจริญเติบโตโดยการควบคุมความชื้นในบ้าน เมื่อคุณพบเชื้อราในบ้าน คุณต้องรีบกำจัดและหาสาเหตุโดยเฉพาะความชื้น หากไม่แก้ไขให้ดี ก็จะเกิดเชื้อราขึ้นใหม่ เมื่อเรารู้ที่มาของความชื้นกันแล้ว ต้องมาแก้ไขเมื่อมีการเปียกน้ำของวัสดุในบ้าน
หนังสือและกระดาษ
  • หนังสือหรือกระดาษไม่มีค่าก็ให้ทิ้งไปบ้าง
  • ทำสำเนาเก็บไว้ ส่วนที่เปียกทิ้งไป
  • หนังสือที่เปียกน้ำให้เอาไว้นอกบ้าน แผ่ผึ่งจนแห้งจึงนำเข้าบ้าน หากไม่ต้องการให้ทิ้งไปเลย
   พรม
  • ให้เอาน้ำออกโดยใช้เครื่องดูดน้ำออกจากพรม หากมีแดดผึ่งแดดตลอดจนมั่นใจว่าแห้ง
  • ลดความชื้นของห้องโดยใช้พัดลมช่วย
ฝ้าเพดานชื้น
อาจต้องเปลี่ยนใหม่เพราะมักไล่ความชื้นไม่ทัน มันจะขึ้นราก่อนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพทุกครั้ง หากเปิดแอร์หรือพัดลม
เสื่อน้ำมัน กระเบื้องยาง


  • ใช้เครื่องดูดน้ำ หรือเช็ดให้แห้ง
  • ให้ตรวจใต้เสื่อ/ กระเบื้องยางว่าเปียกหรือไม่
   ผนังยิบซัม
  • ถ้าไม่บวมก็ไม่ต้องเปลี่ยน แต่หากบวมมากก็น่าจะเปลี่ยน
  • ใช้พัดลมช่วยเป่า
   ผ้าม่าน
  • ถอดไปซักและทำให้แห้ง
วอลเปเปอร์
อันนี้คงต้องรื้อออก เพราะเก็บความชิ้นไว้ในผนัง และกันความชื้นออกมาอีกด้วย  และเป็นไปได้อย่าติดตั้งอีกเลย มีสารอันตรายมากกว่าความสวย

ของอื่นๆอีกมากมายในบ้านที่มีแตกต่างกันmeepole คงเขียนได้ไม่หมด แต่ละบ้านก็ต้องมองกันเองว่าเหลืออะไรที่ดูดความชื้นได้ดี ให้เอามาทำให้แห้งด้วยวิธีต่างๆ เช่นผึ่งแดด เป่าโดยใช้ไดร์เป่าผม  เป่าโดยพัดลม เปิดบ้านให้ลมพัดผ่านเพื่อความชื้นระเหยออกได้เร็วขึ้น อะไรที่ทิ้งได้อย่าไปเสียดายที่จะเก็บไว้รอทิ้งเพราะจะเป็นตัวเก็บความชื้น  ดูให้ละเอียดแม้กระทั่งฉนวนหุ้มท่อแอร์ที่น้ำท่วมถึงก็อาจต้องเปลี่ยนใหม่

มีสติทุกครั้งที่กำลังจัดการกับรา เช่น การเปิดพัดลมเป่าต้องดูให้ดีว่าไม่มีราในบริเวณนั้นแล้ว ฯ และใส่เครื่องป้องกันตัว(ที่เคยเขียนมาแล้ว) และบอกตัวเองเสมอ รานั้นอาจอันตรายอย่าไว้ใจ

ใจเย็นๆค่อยๆทำทีละส่วน แต่ต้องไม่ปล่อยให้ราขึ้น เอาใจช่วยนะคะ