Monday, 12 December 2011

น้ำท่วม: การจัดการราบนผนังบ้าน 5

อันตราย..ราเต็มบ้านทำอย่างไร: การจัดการราบนผนังบ้าน
โดย meepole
ตัวอย่าง สปอร์ของราชนิดหนึ่ง
 
 
ผนังขึ้นรา: ที่มา
การที่ผนังขึ้นราสาเหตุหลักคือความชื้นนั่นเอง ความชื้นตัวนี้มีที่มาหลายทางด้วยกัน เช่น
  • จากพื้นที่รั่วซึมทั้งหลาย
  • จากพื้นห้องน้ำ
  • น้ำบนดาดฟ้า
  • ภาชนะเก็บกักน้ำในบ้าน
  • ช่วงที่มีน้ำท่วม ความชื้นจากเชิงผนังที่ถูกน้ำท่วม ผนังจะเป็นตัวดูดซับน้ำขึ้นมาในแนวตั้ง อาจสูงเกิน 1 เมตร โดยจะเห็นเป็นคราบ หากท่วมนานๆ และบ่อยๆ ผนังจะสามารถดูดซับน้ำได้สูงมาก
  • แอร์ที่มีความชื้นสูง
  • การรั่วซึมของท่อต่างๆนอกและในบ้าน
  • ระบบการระบายอากาศที่ไม่ดีในบ้าน เป็นต้น
  • กรณีพิเศษเหนือการคาดคิดครั้งนี้คือน้ำท่วมและขังนาน ทำให้ชื้นทั้งบ้าน
และที่สำคัญคือตอนนี้ส่วนมากทุกบ้านจะมีแอร์ติดในห้องต่างๆและเมื่อปิดแอร์ก็จะเปิดประตูหรือหน้าต่างในขณะที่ยังมีความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้มีความชื้นสูง

ลักษณะที่เห็น
บางคนอาจไม่แน่ใจว่าที่เห็นเป็นราหรือเปล่า
ราที่มีในบ้านอาจเป็นทั้งราที่ผลิตสารพิษ และราปกติทั่วไป ราอาจจะมีได้ทุกสี ฟูบ้างไม่ฟูบ้างเพราะรามีหลายชนิดมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นสีดำ น้ำตาล หรือเขียวๆ ดังนั้นที่เห็นอาจเป็นสีสวยๆชมพู เหลือง ส้มๆ  เทาเขียว ขาวจุดส้ม เป็นต้น บางชนิดเรืองแสงในที่มืดได้ด้วย

สาเหตุ
อีกปัญหาที่เรามักจะมองไม่เห็นคือจริงๆแล้วภายในบ้านจะมีความชื้น และหากบ้านใครที่มีแหล่งน้ำในบ้าน เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในห้องน้ำ ถังรองน้ำในบ้านที่ไม่ปิดฝา เป็นต้น จะทำให้ภายในบ้านมีสภาพอากาศชื้นมากกว่าปกติ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ บนผนังบ้าน ฝาบ้านจะมีคราบไอน้ำเกาะอยู่แทบตลอดเวลาแต่เรามองไม่เห็น แต่สามารถใช้มือสัมผัสจะรับรู้ถึงความเย็นชื้นๆ
ทั้งสองสาเหตุนี้ ทำความเสียหายแก่ผนังบ้านไม่เหมือนกันโดยที่
  • ความชื้นในผนังจะทำให้สีลอกล่อนหลุด แต่
  • ความชื้นบนผนังจะทำให้เกิดรา และถ้าสังเกตุให้ดีๆ จะพบตะใคร่ (เขียวๆดำๆ) ปะปนอยู่ด้วยเสมอ
 อันตราย
หากใครที่มีประวัติการเป็นภูมิแพ้ก็แน่นอนว่าจะเป็นต่อได้เรื่อยๆ  ใครที่ยังไม่เป็นก็มีความเสี่ยงที่จะได้ของแถม ที่อันตรายนี้ติดตัว และแน่นอนว่าย่อมไม่ไช่ภูมิแพ้เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะกับเด็กๆ

การกำจัด
(กรุณาย้อนอ่านขั้นตอนเตรียมการและข้อควรระวังก่อนจะกำจัดราก่อน เพื่อการป้องกันตัวเองตามอัธยาศัย)
  1. ใช้สาร Hypochloride เช่น ยาฟอกผ้าขาวทั้งหลาย (ไฮเตอร์ หรือ คลอรอกซ์) พวกนี้มีส่วนผสมของ คลอรีน สามารถฆ่าได้ทั้งราและตะใคร่ แต่อย่าใช้คลอรีนเดี่ยวๆแบบที่ใช้ในสระว่ายน้ำ เพราะจะเกิดอันตรายหากไม่รู้วิธีป้องกันเนื่องจากการกัดกร่อนสูง
  2. เอาแปรงทาน้ำยาเบาๆในบริเวณที่เป็นเชื้อรา อย่าถูหรือขัดในขั้นตอนนี้ เพราะสปอร์ของราจะฟุ้งกระจายไปติดผนังที่ยังดีส่วนอื่นๆ
  3. ทาทิ้งไว้ 5-7 วัน ถ้าไม่เห็นมีราขึ้นอีก ให้ใช้น้ำที่ต้มจนเดือดและตั้งทิ้งให้อุ่น มาล้างทำความสะอาดต่อ ใช้ผ้าแห้งเช็ดให้แห้ง (ผ้าหรือแปรงที่ใช้ ต้องแน่ใจว่าสะอาด เพราะถ้าปนเปื้อนเชื้อใหม่ ก็จะเกิดราได้อีกในเวลาอันสั้น)
  4. ถ้าทิ้งไว้แล้วรายังขึ้นอีก ก็ทำใหม่อีกรอบ ทิ้งไว้ 5-7 วันเหมือนเดิม เท่าที่พบมามักจะไม่เกิน 2 ครั้งราก็จะไม่กลับมาอีก (หากผนังไม่ชื้น)

ราที่มุมผนังห้องเนื่องจากความชื้น

เท่านี้ผนังในบ้าน นอกบ้าน ควรจะปลอดราแล้วล่ะค่ะ ขอให้ Happy กับ รา - killing day อีกวันนะคะ

ครั้งหน้าจะเป็นการกำจัดเชื้อราในรถค่ะ