Sunday, 24 July 2011

โลกศิวิไลซ์...โรคศิวิไลซ์ 3

โลกศิวิไลซ์...โรคศิวิไลซ์ 3: ระวังอันตรายที่มาจากแอร์ และ...



คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ มองไม่เห็นปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในอาคารบ้านเรือนเท่ากับปัญหาอากาศเป็นพิษตามท้องถนน ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่า

"ภัยเงียบ" ที่กำลังคุกคามมนุษย์ที่อาศัยในอาคารที่เปิด "แอร์" ตลอดทั้งวัน ไม่มีการระบายอากาศ กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส นอกจากนี้ก็มีฝุ่นละออง แก๊ส สารระเหยต่างๆ เป็นต้น

วันนี้จะเขียนเอาเฉพาะเรื่องเชื้อโรค  จริงๆแล้วตั้งใจเขียนมานานตอนมีข่าว และจนท.ผู้เกี่ยวข้องก็ออกมาให้ข่าวตามระเบียบว่ากำลังตรวจสอบ ต้องรอเวลา ใครอยู่ในวงการคงเข้าใจกันดีว่าเวลาให้ข่าวแบบนี้หมายความว่าอย่างไร ใครไม่รู้ก็เชื่อไป และเมื่อสื่อเลิกตามข่าวจะหายไปเอง หุ หุ เรื่องนี้หากผู้อ่านท่านใจจำเหตุการณ์ที่เกิดได้ก็สามารถโยงเรื่องไปได้และนี่คือคำตอบ....หากไม่ทราบเรื่องหรือลืมแล้วก็ไม่เป็นไร  

ในตึก อาคารใหญ่ สิ่งที่พบบ่อยคือปัญหาแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส แต่เรามักมองไม่เห็น คิดไม่ถึง เชื้อที่พบบ่อยและร้ายแรงมากที่สุด คือ "เชื้อ ลีจิโอเนลลา (Legionella) " มีระบุชัดถึงกรณีที่ผู้อยู่ในอาคารป่วยจากแบคทีเรียชนิดนี้ทุกปี และมีผลการวิจัยของประเทศไทยหลายฉบับที่บอกว่าการสุ่มตรวจ "หอผึ่งเย็น" ในอาคารใหญ่ทั้งหมดพบว่ามีแบคทีเรียลีโอแนลล่าอยู่ ซึ่งเชื้อชนิดนี้เป็นต้นเหตุของ "โรคปอดอักเสบลีจีแนร์" ถ้าเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคนี้ไม่ใช่เป็นโรคใหม่ แต่ถูกพบได้ทั่วโลกและตลอดทั้งปี โชคดีที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน โชคร้ายคือยังไม่มีวัคซีนป้องกัน  เชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาละอองไอของน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา นิวโมฟิวลา (L.pneumophila) ปะปนอยู่ ผ่านเข้าสู่ปอด 




n     เชื้อลีจิโอเนลลา      เป็นเชื้อโรคที่พบได้ตามแหล่งน้ำทุกชนิดที่ไม่มีการควบคุมดูแลความสะอาดอย่างเพียงพอ โดยเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ไม่สามารถแบ่งตัวได้ในสภาพปกติ แต่ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในน้ำ เช่น อะมีบา (amoeba) และโปรโตซัว (protozoa) กินเชื้อดังกล่าวเข้าไปแล้วจะสามารถเจริญ แบ่งตัวได้เป็นทวีคูณภายในเซลล์เดียว จนกระทั่งเซลล์นั้นแตกตัวตายไปและปลดปล่อยเชื้อลีจิโอเนลลาออกมาเพื่อเข้าไปเจริญในเซลล์ตัวใหม่ต่อไป
  
n     เป็นแบคทีเรียที่พบได้เฉพาะในที่บริเวณพื้นแฉะ และพบในแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นในพื้นที่จำกัด เช่น ในระบบแอร์รวม หอผึ่งเย็นในเครื่องปรับอากาศแบบรวมที่ใช้ในอาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม หรือโรงพยาบาล  ถาดรองแอร์ หัวก๊อกน้ำ น้ำพุที่ลักษณะเป็นละอองน้ำฝอยเล็กๆเป็นต้น

หอผึ่ง

ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มจากเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว และปวดหัว อาการจะมี 2 ชนิดคือ
n   ชนิดไม่รุนแรง เป็นแล้วหายได้เองไม่ต้องรักษา และ
n   ชนิดรุนแรง ทำให้ปอดอักเสบหรือปอดบวม โดยจะมีไข้ ไอ และหอบ โดย มีระยะฟักโรค ๒-๑๐ วัน  อาการเริ่มแรกได้แก่ รู้สึกอ่อนระโหยไม่สบาย ปวดกล้ามเนื้อบริเวณหลัง ต้นคอ แขน ขา ปวดศีรษะ และมีไข้ ๓๘.๕-๔๐.๕ องศาเซลเซียส หนาวสั่น ท้องเสียอ่อน ๆ และปวดท้อง ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียมาก ๒-๓ วันต่อมา และจะไอแห้ง ๆ บางครั้งเสมหะมีเลือด เจ็บหน้าอก หายใจขัด ระยะนี้ผู้ป่วยจะหายใจถี่ และสับสนไม่ค่อยรู้เรื่อง ผู้ป่วยอาจถ่ายปัสสาวะปนเลือด สุดท้ายจะมีภาวะไตล้มเหลว โพรงเยื่อหุ้มปอดมีสารน้ำ ปอดอักเสบ หรือปอดบวมร่วมด้วย
n   ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้คือผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ โรคหัวใจ หรือโรคปอดเรื้อรัง ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า  รวมทั้ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดต่างๆ


ดังนั้นในอาคารใหญ่ๆ เช่นอาคารสำนักงาน โรงแรม  โรงงาน เป็นส่วนที่ต้องระวังการแพร่เชื้อนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคลีจีแนร์ในโรงแรม เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน และเป็นโรคระบาดที่หากเกิดเรื่องแล้วแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก  และโรคดังกล่าวนี้มีการแพร่กระจายระบาดมาแล้วอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้มีประชาชนเกิดการเจ็บป่วย และบางรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตดังที่เคยเป็นข่าวมาแล้ว

ในส่วนประชาชนแบบเราๆยังมีความรู้เกี่ยวกับเชื้อตัวนี้น้อยมาก ดังนั้น วิธีป้องกันโรคดังกล่าว ภาครัฐ หน่วยงานสาธารณสุข จึงควรจะให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อนี้  จริงๆแล้วเจ้าของสถานที่ที่อาจพบเชื้อลีจิโอเนลลาจะต้องมีส่วนช่วยในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคโดยทำความสะอาดบริเวณที่อาจจะเกิดเชื้อลีจิโอเนลลาเป็นประจำ เช่น ถ้าเป็นบ่อน้ำพุที่ต่อท่อออกมาให้คนอาบ ควรจะทำความสะอาดอ่างหรือเติมสารเคมีฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน ลงในบ่อประมาณสัปดาห์ละครั้ง  ทั้งนี้ควรเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจประมาณเดือนละ ๒ ครั้ง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการบำรุงรักษา  ถ้าเป็นหอผึ่งเย็นก็ควรจะทำความสะอาดเดือนละครั้ง 

ดังนั้นการเข้าพักในโรงแรมจึงจำเป็นต้องเลือกสภาพโรงแรมและสภาพห้องที่ดูไม่เก่าโทรมและการใช้บริการต่างๆบางครั้งต้องมั่นใจและเชื่อใจในการดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่และระบบปรับอากาศและระบบระบายอากาศว่าเขาได้มีการหมั่นดูแลรักษา หมั่นล้างทำความสะอาดแอร์ภายในอาคาร หอผึ่งเย็น ถาดรองแอร์ ถังกักเก็บน้ำ ดีพอ ซึ่งอันนี้เราคงต้องทำใจ

สำหรับในบ้าน อาคารสำนักงาน ที่ทำงานก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ดูแลระบบต่างๆ หมั่นขัดล้างหัวก๊อกน้ำด้วยน้ำยาล้างจาน หรือผงซักฟอกอย่างน้อยทุกๆ-1-3 เดือน  

รู้อย่างนี้ยังไงๆ เวลาจะไปพักที่ไหนก็คงต้องเลือกหน่อยล่ะค่ะ เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะเป็นผู้ได้รับเชื้อดังกล่าว
อ่านแล้วไม่ต้องตระหนก  เอาแค่ตระหนัก ก็พอนะคะ