Thursday, 14 July 2011

ก่อบุญ เกิดกุศล

ก่อบุญ เกิดกุศล


สุดสัปดาห์นี้เป็นโอกาสดีของพุทธศาสนิกชนอีกครั้งที่ได้มีโอกาสทำบุญ ในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือวันอาสาฬหบูชา และ วันเข้าพรรษา และก็อาจเป็นวันหยุดพักผ่อนยาวของอีกหลายๆคนโดยไม่นึกถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนาเลยก็มี อันนี้ก็แล้วแต่บุญสะสมของแต่ละคน
เมื่อวานได้เอาหนังสือไปถวายพระ และได้สนทนาและปรึกษากับท่านเรื่องการทำหนังสือสวดมนต์ของวัด เพื่อให้ใช้เป็นบทสวดทำวัตรเช้าเย็น และบทสวดต่างๆที่จะนำมาใส่ในเล่มเพื่อใช้สวดให้เป็นมงคลชีวิต ตอนหนึ่งท่านได้ปรารภขึ้นมาว่า คนเราเดี๋ยวนี้ส่วนมากได้ทำในส่วนของทานมัยและศีลมัยกัน แต่ยังขาดในส่วนของภาวนามัย  จะสวดมนต์ ฟังธรรมก็หาได้ยาก ไปวัดพระเทศน์ก็จะคุยกันจนพระเทศน์จบ..

ก็เห็นด้วยกับท่านทุกอย่าง แต่นั่นแหละก็เห็นความจริงในสังคมปัจจุบันที่อยู่กับโลกของวัตถุนิยม  การบริโภคเสพสุขไปวันๆ ไม่เข้าใจเรื่อง ชีวิต ไม่คิดมาก สนุกไปวันๆก็พอ  เมื่อมีเรื่องมากระทบ ก็เครียดก็หาทางออกแบบไม่ใช้ปัญญา เสพยา กินเหล้า หาทางออกไม่ได้ก็ฆ่าตัวเองหรือไม่ก็ฆ่าผู้อื่นแบบที่เห็นข่าวกันมากมาย เสียดายจริงๆที่มีโอกาสได้เกิดเป็นคน สามารถฝึกและพัฒนาตน ยกระดับจิตใจได้แต่ไม่ได้ทำ

วันนี้ก็เป็นโอกาสดีอีกครั้งที่เราในฐานะเป็น คน และ เป็น ”พุทธศาสนิกชน” ควรถือโอกาสเข้าวัดฟังธรรม เวียนเทียนเพื่อเป็นปฎิบัติบูชา ขอเชิญชวนไปวัดกันนะคะ เพื่อก่อบุญ เกิดกุศล เป็นมงคลชีวิตที่ดีจริงๆค่ะ และขอนำเรื่อง "บุญ" มาฝากเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกันค่ะ

คำว่า บุญ เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ใจ ธรรมชาติที่ชำระจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส มีผลได้แก่ความสุขที่เกิดทางใจบุญเกิดได้หลายทาง
 การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ผู้กระทำด้วยสิ่งที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ดังนี้
๑. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ได้แก่ วัตถุสิ่งของให้ธรรมะเป็นทาน เรียกธรรมทาน ให้อภัย เรียกอภัยทานรวม ถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการสละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม
. ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ได้แก่ คือการตั้งใจรักษาศีล และการปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ ของสามเณรหรือ ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ เพื่อรักษากาย วาจา และใจ ให้บริสุทธิ์สะอาดพ้นจากกายทุจริต ๔ ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักทรัพย์  ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม  และเสพสิ่งเสพติดมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท วจีทุจริต ๔ ประการ คือไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบ มโนทุจริต ๓ ประการ คือ ไม่หลงงมงาย ไม่พยาบาท ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม
 ๓. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ได้แก่ การอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด
 ๔. เวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือกิจการสงฆ์และภาระพระศาสนาด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ในฝ่ายสัมมาทิฎฐิ
๕. อปจายนะมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการมีกิริยาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณและคนทั่วไป
๖. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป
๗. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงอนุโมทนาในส่วนบุญร่วมกับผู้อื่นเช่น กล่าวว่า สาธุ เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำก็ขอให้ได้มีโอกาสแสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย
๘. ธัมมเทศนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ได้แก่การอธิบายบรรยายธรรมะให้แก่ผู้ร่วมโลกที่ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย
๙. ธัมมัสสวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ได้แก่ การฟังธรรมและนำข้อธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้พ้นทุกข์
๑๐. ทิฏฐชุกัมม์ คือ บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง เข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ

สรุปแล้ว “บุญ ย่อลง  เป็น ๓ ทางด้วยกัน คือ
๑. ทานมัย คือ บุญที่เกิดจากการให้ทาน
๒. ศีลมัย คือ บุญที่เกิดจากการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย คือ บุญที่เกิดจากการเจริญภาวนา
บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือยิ่งมากจนครบ ๑๐ ประการแล้ว ผลบุญย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำมากตามบุญที่ได้กระทำ