Friday 3 February 2012

ชีวิตเสี่ยงภัยเมื่อหมดโปรโมชั่น 2

by meepole

เด็กกับความเสี่ยงต่อภาวะพิษสารตะกั่ว (ต่อจากตอนที่แล้ว)

เชื่อไหมว่าพ่อแม่ไม่มีรู้เลยว่าลูกน้อยได้รับพิษจากตะกั่วไปแล้วจนกว่าจะสายเกินแก้...
เพราะเมื่อเด็กคนหนึ่งได้รับพิษจากสารตะกั่วไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ โดยหากเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากอาหารและน้ำดื่มเป็นระยะเวลานาน จะทำให้สมองมีการสูญเสียอย่างถาวร อีกทั้งพัฒนาการของเด็กจะยังคงล่าช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน แม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม

ร่างกายจะสามารถดูดซึมสารตะกั่วจากทางเดินอาหารได้ร้อยละ 11 ในผู้ใหญ่แต่สำหรับเด็กจะดูดซึมได้ร้อยละ 30-75 จึงทำให้เด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ โดยไม่แสดงอาการใดๆให้เห็น และการวินิจฉัยภาวะตะกั่วเป็นพิษทำได้ค่อนข้างยากยาก

เมื่อเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าไปแม้เพียงเล็กน้อยจะส่งผลอันตรายต่อการพัฒนาการของสมองทันที มีงานวิจัยพบว่าพิษจากสารตะกั่วมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สมองและระบบประสาทอย่างถาวรในเด็ก (Rogan et al, 2001) และ IQ จะลดลง 4.6 ถ้าระดับสารตะกั่วในเลือด น้อยกว่า 10 mcg/dLและลดลง 7.4 ถ้าระดับสารตะกั่วในเลือด มากกว่า10 mcg/dL ( Canfield et al, 2003)
ที่มาภาพตะกั่ว images-of-elements.com

แม้ว่าได้มีความพยายามที่จะลดสารตะกั่วออกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเช่น การใช้น้ำมันที่ปราศจากสารตะกั่ว การใช้ท่อประปาที่ทำจาก PVC การรณรงค์ไม่ซื้ออาหารที่บรรจุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นต้น แต่ก็ยังพบสารตะกั่วได้ในสิ่งแวดล้อม จากการตรวจเลือดเด็กในเมืองก็ยังพบสารตะกั่วในเลือดมากกว่าเด็กในชนบท จากงานวิจัยของ พญ จันทิมา ใจพันธ์และคณะ (2553) พบว่า 9.6% เด็กอายุ 2-6 ปี ในกรุงเทพมีระดับสารตะกั่วในเลือด มากกว่า 10 mcg/dL และพบว่า 27.4% ในเด็กอายุ 6-12 ในกรุงเทพมีระดับสารตะกั่ว ในเลือด มากกว่า 10 mcg/dL

นอกจากนี้สารตะกั่วยังส่งผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ หากมีสารตะกั่วปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดแท้ง คลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองจะพัฒนาช้า ปัญญาอ่อน ชัก

เด็กได้รับตะกั่วจากไหน
มักจะพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วในอาหาร น้ำดื่ม และฝุ่นในอากาศ ภาชนะบรรจุ ของเล่นเด็ก สีผนังบ้าน ดินในสนามหรือสวน แม้กระทั่งในแป้งเด็กบางชนิด
เนื่องจากพฤติกรรมของเด็กที่ใช้มือหยิบของเข้าปาก รวมถึงการมีกิจกรรมบนพื้นของเด็กที่มีการปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว จึงทำให้พบปริมาณสารตะกั่วสูงในเด็ก หรือกระทั่งอาศัยในบริเวณที่มีควันรถมาก 

ดังนั้นการที่จะทำให้เด็กไทยพ้นภัยและห่างไกลจากพิษภัยของสารพิษจากพลาสติกและตะกั่วได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องทำให้พ่อ แม่และผู้ปกครอง เกิดความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจถึงพิษภัยต่างๆ ที่แฝงมากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก

ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของตนเองอย่างเต็มความสามารถ เพื่อปกป้องบุตรหลานให้ปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและเติบโตสมวัย ไม่ไช่ทำเพื่อเรียกกระแส ตัดงบประมาณ รณรงค์เป็นคราวๆโดยไม่มีอะไรดีขึ้น   สำหรับเราผู้บริโภคต้องจำใส่ใจและตระหนักว่า

ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ที่สำคัญพบว่าไม่มีระดับ สารตะกั่วในเลือดค่าใดที่ถือว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง  เพราะพิษตะกั่วที่มีผลต่อสมองจะเกิดอย่างถาวรแม้ว่าจะทำการรักษาแล้วก็ตาม

หมายเหตุ  หน่วย  mcg/dL คือ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร

อ้างอิง:
  • พญ จันทิมา ใจพันธ์ และคณะกุมภาพันธ์ 2553. การศึกษาความเสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่วของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สังกัดของกรุงเทพมหานคร  มหาวิทยาลัยมหิดล
  • Banks, E. C., Ferretti, L. E., & Shucard, D. W. (1997). Effects of low level lead exposure on cognitive function in children: A review of behavioral, neuropsychological and biological evidence. NEUROTOXICOLOGY, 18(1), 237-282. 
  • Binns, Helen J. - Ricks, Omar Benton Helping Parents Prevent Lead Poisoning. ERIC Digest
  • Canfield RL, Henderson CR Jr, Cory-Slechta DA, Cox C, Jusko TA, Lanphear BP., 2003. Intellectual impairment in children with blood lead concentrations below 10 microg per deciliter, N Engl J Med.;348(16):1517-26.
  • Rogan, W. J., Dietrich, K. N., Ware, J. H., Dockery, D. W., Salganik, M., Radcliffe, J., Jones, R. L., Ragan, N. B., Chisolm, J. J., & Rhoads, G. G. (2001). The effect of chelation therapy with succimer on neuropsychological development in children exposed to lead. NEW ENGLAND JOURNAL OF MEDICINE, 344(19), 1421-1426. 
  • Yeoh B et al., 2009. Household interventions for prevention of domestic lead exposure in children, Cochrane summaries.