Saturday, 28 January 2012

ชีวิตเสี่ยงภัยเมื่อหมดโปรโมชั่น 1

 by meepole
ที่มาภาพ: learners.in.th

เมื่อวานสอนนักศึกษาวิชาชีวเคมีสิ่งแวดล้อมว่าด้วยเรื่องสารเคมีและสารพิษ ร่ายยาวไปทั้งสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จากการเกษตร ในที่สุดเข้ามาไกล้ตัวคือในบ้าน และท้ายสุดสารปนเปื้อนอันตรายในอาหาร สอนไปก็ถามเรื่องที่คิดว่าเขาน่ารู้เพราะเป็นข่าวครึกโครมเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ออกตรวจเข้มจริงจัง แต่ตอนนี้หมดโปรโมชั่น เงียบสนิท หากไม่ระวังก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน

คงเคยเห็นพาดหัวข่าวหรือได้ยินข่าวทำนองนี้ออกมาเป็นระยะๆ

"หึ่ง!! เด็กอุ้มผาง มีสารตะกั่วในเลือดสูงเกินมาตรฐาน 60%" (ผู้จัดการออนไลน์ 25 สิงหาคม 2554 )หรือ  ..........สช. ชี้เด็กไทยยังเสี่ยงภัยจากสารพิษ "พลาสติก-ตะกั่ว"หนุนให้ความรู้ พ่อแม่-ชุมชน-ภาครัฐ ป้องกันการปนเปื้อน…………"สาธารณสุขอุดรฯ เตือนภัย สารตะกั่วในหม้อก๋วยเตี๋ยว"............  "อนามัย เตือนอันตรายตะกั่วจากหม้อก๋วยเตี๋ยวด้อยคุณภาพ ชี้ พิษสะสมมากเสี่ยงอัมพาต" (มิย. 2011) เป็นต้น อันนี้ทำเอาหม้อก๋วยเตี๋ยวไร้สารตะกั่ว หลายยี่ห้อทำเงินได้มากมาย

คนไทยเมื่อได้ข่าวทำนองนี้ ไม่ว่าจากงานวิจัยหรือจากเมื่อมีคนเข้ารพ.แล้วออกข่าว ก็จะตื่นตัว ตื่นตูม จากนั้นก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับลูกต่อ ประชุม ตั้งงบ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ให้สัมภาษณ์ ใช้งบ หมด เรื่องเงียบ หมดโปรโมชั่น รอรอบใหม่ ..มันเป็นเสียอย่างนี้สำหรับเกือบทุกเรื่อง เงินหมดทีละเป็นหลายสิบถึงร้อยล้านสำหรับการรณรงค์แก้ปัญหาเรื่องหนึ่งๆ แต่ก็ไม่ได้ผลต่อเนื่องเพราะคนไทยไม่ตระหนัก ไม่ใส่ใจคุณภาพชีวิตจริงจัง ประมาท ส่วนมากจะสนใจเมื่อไกล้แก่ หรือป่วยแล้วเท่านั้น มาแก้ที่ปลายเหตุ การระวังป้องกันไม่สนใจ

เรื่องนี้มันไกล้ตัวเรามาก มันอยู่ในบ้านเราเลย แต่เรามักละเลย ลืม คิดไม่ถึง มันเลยเข้าไปสะสมในร่างกายเรา ลูกเล็กเด็กแดง จนตอนนี้มีข่าวสถิติที่เด็กไทย IQ เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงของอนาคตของชาติเลยทีเดียว


โลหะหนัก: ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ

โลหะหนักเป็นสารที่คงตัว ไม่สามารถสลายตัวได้ในกระบวนการธรรมชาติจึงมีบางส่วนตกตะกอนสะสมอยู่ในดิน ตะกอนที่อยู่ในน้ำ รวมถึงการสะสมอยู่ในสัตว์น้ำซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างโลหะหนักเช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สารหนู

โลหะหนักเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ในหลายภาคส่วน เช่น ในด้านอุตสาหกรรม เราใช้โลหะหนักในการผลิตพลาสติก พีวีซี สี ถ่านไฟฉาย สำหรับทางด้านการเกษตร โลหะหนักเป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ขณะเดียวกันทางการแพทย์ใช้โลหะหนักเป็นส่วนผสมของยา อุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องสำอาง

โลหะหนักบางชนิดให้ทั้งคุณและโทษต่อสิ่งมีชีวิต ขึ้นกับชนิดของสิ่งมีชีวิตและปริมาณที่ได้รับเข้าไป ในชีวิตประจำวันเรามีความเสี่ยงต่อการนำโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการบริโภคอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีสารเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่

  ที่น่าตกใจกว่านั้นคือสารโลหะหนัก ตะกั่ว มีผลต่อสมองและพัฒนาการของเด็ก พูดให้ตรงคือผลต่อสติปัญญา ที่เรามักพูดว่า IQ นั่นเอง เราคงไม่อยากให้ลูกหลานเราเกิดมาแล้วมีพัฒนาการทางสติปัญญาต่ำกันไช่ไหมคะ งั้นคงต้องระมัดระวังกันให้มากเพราะกว่าจะรู้ตัวมักสายเสียแล้วจริงๆ  

มีงานวิจัยมากมายมีการศึกษาและยืนยันตรงกันว่า ตะกั่วทำลายสมอง ไขกระดูก ระบบประสาท ตับ ไต หัวใจ  และทางเดินอาหาร ฯลฯส่งผลให้เกิดอาการ  ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน ความจำเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ  โลหิตจาง  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดอาการตกเลือด  เกิดอาการเพ้อ  ชัก เป็นอัมพาต
โดยปกติไม่ต้องห่วง (คิ คิ) เรามักจะมีตะกั่วอยู่ในกระแสเลือดไม่มากก็น้อยต่างๆกันอยู่แล้วเพราะสารนี้แพร่กระจายไปทั่วและมีในของใช้ ของกินในบ้านทุกบ้าน แต่กระนั้นเราจำเป็นต้องรู้ เข้าใจเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับมากขึ้นจนส่งผลอันตรายต่อชีวิต

เราพบสารตะกั่วได้ที่ไหนในบ้านบ้าง
ในน้ำดื่ม น้ำประปา ภาชนะหุงต้มที่เชื่อมด้วยสารตะกั่ว ภาชนะจัดเก็บอาหาร ภาชนะ ceramics ที่มีตะกั่ว  แก้วน้ำ ช้อน ยาสมุนไพร หมึก แป้งทาตัวเด็ก (จุ้ยฮุ้ง) ตะกั่วถ่วงน้ำหนักม่าน สารตะกั่วจากหนังสือพิมพ์ สีที่ทาบ้าน ของใช้สีจัด ของเล่นเด็ก เป็นต้น


ตอนหน้ามาติดตามอ่านผลงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กกับความเสี่ยงต่อภาวะพิษสารตะกั่ว
และระดับการพัฒนาการของสมองกันต่อนะคะ    

อ้างอิง                           
  • พญ จันทิมา ใจพันธ์ และคณะกุมภาพันธ์ 2553. การศึกษาความเสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่วของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สังกัดของกรุงเทพมหานคร  มหาวิทยาลัยมหิดล
  • Banks, E. C., Ferretti, L. E., & Shucard, D. W. (1997). Effects of low level lead exposure on cognitive function in children: A review of behavioral, neuropsychological and biological evidence. NEUROTOXICOLOGY, 18(1), 237-282. 
  • Binns, Helen J. - Ricks, Omar Benton Helping Parents Prevent Lead Poisoning. ERIC Digest
  • Canfield RL, Henderson CR Jr, Cory-Slechta DA, Cox C, Jusko TA, Lanphear BP., 2003. Intellectual impairment in children with blood lead concentrations below 10 microg per deciliter, N Engl J Med.;348(16):1517-26.
  • Rogan, W. J., Dietrich, K. N., Ware, J. H., Dockery, D. W., Salganik, M., Radcliffe, J., Jones, R. L., Ragan, N. B., Chisolm, J. J., & Rhoads, G. G. (2001). The effect of chelation therapy with succimer on neuropsychological development in children exposed to lead. NEW ENGLAND JOURNAL OF MEDICINE, 344(19), 1421-1426. 
  • Yeoh B et al., 2009. Household interventions for prevention of domestic lead exposure in children, Cochrane summaries.