Sunday, 27 November 2011

น้ำท่วม: การเลือกน้ำดื่มบรรจุขวดให้เสี่ยงอันตรายน้อยที่สุด (1)

by meepole

จากปัญหาของน้ำประปาที่คุณภาพไม่น่าไว้ใจในช่วงน้ำท่วม เช่น มีสี  มีกลิ่น ขุ่น ทำให้หลายๆคนไม่สบายใจที่จะดื่มหรือนำไปใช้ ซึ่งวิธีแก้หรือเลี่ยงปัญหาดังกล่าวก็มีคำแนะนำมากมาย บางคนที่มีเงินก็สามารถซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดมาดื่ม  หลายครอบครัวช่วงนี้ก็ซื้อตุนไว้มากมาย บางคนได้รับบริจาคก็อาจสะสมไว้ทานจนกว่าน้ำจะลด บางคนอาจตั้งใจดื่มน้ำบรรจุขวดหรือถังลิตรไปตลอดเลย ดังนั้นการพิจารณาเลือกน้ำดื่มบรรจุขวดจึงมีความจำเป็น เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ...ไม่ว่าคุณจะคิดหรือปฏิบัติอย่างไร ลองอ่านข้อเขียนที่ meepole รวบรวมเรียบเรียง ด้วยความตั้งใจและปรารถนาดีแล้วตัดสินใจกันดูนะคะ

ร่างกายคนเราต้องการน้ำไปเพื่ออะไร
  • เพื่อรักษาความสมดุลต่างๆของร่างกาย
  • เพื่อใช้ในปฏิกิริยาและกระบวนการต่างๆ
  • เพื่อชำระของเสียส่วนเกินออกไปจากร่างกาย
  • เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง

น้ำดื่มบรรจุขวดที่วางขายกันตามท้องตลาดมีมากมายหลากหลายยี่ห้อ  ภาชนะที่ใช้บรรจุก็เป็นพลาสติกที่แตกต่างกัน และน้ำก็ผลิตด้วยกรรมวิธีที่แตกต่างกันอีกหลายตัวเลือกไม่รวมสารพัดน้ำแร่ ที่ไม่รู้แร่แท้หรือเทียม (แต่อยู่นอกเหนือหัวข้อที่จะเขียนตอนนี้) ดังนั้นการเลือกดื่มน้ำดื่มบรรจุขวดหรือถังก็ตามจึงควรคิดพิจารณาให้ดีเช่นกัน เพราะเราต้องดื่มน้ำกันทุกวัน มีข้อให้ค่อยๆนำไปประกอบการตัดสินใจโดยmeepole จะเขียนประมาณ 3-4 ตอน

ข้อควรพิจารณาในการเลือกน้ำดื่มบรรจุขวดให้เสี่ยงอันตรายน้อยที่สุด

เลือกอย่างไรให้อันตรายน้อยที่สุด
1. เลือกภาชนะที่ใช้บรรจุ

ปัจจุบันภาชนะที่นิยมใช้บรรจุน้ำดื่มมี  4 ชนิด คือ
1. ขวดแก้วใส
2. ขวดพลาสติกโพลิโพรพิลีน (Polypropylene, PP) เป็นพลาสติกที่แข็ง ทนต่อแรงกระแทกได้ดี ทนต่อสารเคมี ความร้อนได้ ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำภาชนะบรรจุอาหาร เช่น กล่อง ชาม จาน ถัง ตะกร้า หรือกระบอกสำหรับใส่น้ำแช่เย็น ถังน้ำแบบขาวขุ่นความจุประมาณ 20 ลิตร

3. ขวดพลาสติกเพท (Polyethylene terephthalate, PET) มีลักษณะใสและกรอบ และเนื่องจาก PET มีสมบัติป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซได้ดีกว่าพลาสติกทั่วไปและทนต่ออุณหภูมิได้ช่วง 70 ถึง 100 องศาเซลเซียส มักนำไปใช้เป็นขวดบรรจุน้ำอัดลม น้ำดื่ม น้ำมัน น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำยาบ้วนปาก กล่องขนม เป็นต้น

4.พลาสติกชนิด PC (พอลิคาร์บอเนต) เป็นพลาสติกที่มีลักษณะใส แข็ง และทนความร้อน ใช้ทำผลิตภัณฑ์หลายชนิดเช่น แผ่นหลังคา ขวดนมเด็ก ขวดน้ำ (ขวดบรรจุน้ำขวดใสแข็ง สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อน) ภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถเก็บในตู้เย็นและนำเข้าไมโครเวฟได้ด้วย เป็นต้น

ตัวนี้ค่อนข้างอันตรายต่อผู้บริโภค ที่meepole อยากจะให้ผู้อ่านทราบคือ มีการศึกษาพบว่าขวดน้ำดื่มที่ทำจากโพลีคาร์บอเนตจะแพร่สารบิสฟีนอล เอ ออกมามากกว่าปกติถึง 55 เท่าเมื่อใส่น้ำร้อน แล้วสารนี้ส่งผลอย่างไร ลองอ่านเรื่องสั้นในกรอบนี้ดูค่ะ


การดื่มน้ำจากขวดพลาสติก (PC) จะเป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศหญิง โดยไม่รู้ตัว 
"จากการศึกษาพบว่าขวดน้ำดื่มที่ทำจากโพลีคาร์บอเนตจะแพร่สารบิสฟีนอล เอ ออกมามากกว่าปกติถึง 55 เท่าเมื่อใส่น้ำร้อนไม่ว่าจะเป็นขวดเก่าหรือขวดใหม่ก็ตาม เพราะในบรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกชนิดรวมทั้งขวดนมทารก จะมีสารบิสฟีนอล เอ ปนเปื้อนอยู่ การศึกษาโดย US FDA ในสภาพการใช้งานปกติพบว่ามีการแพร่ของบีสฟีนอล เอ จากขวดน้ำขนาด 5 แกลลอนเข้าไปในน้ำที่เก็บไว้ 39 สัปดาห์ อยู่ในช่วง 0.1 4.7 ส่วนในพันล้านส่วน การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกจะเป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง"

 เรื่องนี้ก็น่าคำนึงมากสำหรับทารกเพศชาย แต่ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกมากเกินเหตุ เพราะที่ทานก็ทานกันไปแล้วเป็นกันไปมากแล้ว เอาที่กำลังจะทานก็หลีกเลี่ยงไม่ใช้ก็แล้วกัน เพราะอะไรๆมันเกิดเพราะเราทานกันมากและนานต่อเนื่องนั่นเอง

(อันนี้อ้างอิงมาจากหนังสือที่ meepole เขียนขึ้น มีสนพ.ซื้อลิขสิทธิ์ไปพิมพ์แล้ว แต่ไม่ขอปชส.ในนี้เพราะไม่ได้ตั้งเป้าจะขายหนังสือในบล็อกเจ้าค่ะ)


การเลือกซื้อน้ำจากขวดใสก็มีข้อได้เปรียบตรงที่ความใสของภาชนะทำให้เห็นน้ำดื่มได้ชัดเจน ซึ่งความใสและความขุ่นของน้ำดื่มก็เป็นดัชนีบ่งชี้ความสะอาด ความปลอดภัยของน้ำดื่ม ที่ผู้บริโภคจะสังเกตได้ง่ายที่สุดในการเลือกซื้อ

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคที่เป็นร้านอาหาร และครอบครัวที่ดื่มน้ำกันมากๆมักนิยมซื้อน้ำบรรจุถังขนาด 20 ลิตร เพื่อบริโภคในครัวเรือนกันมากยิ่งขึ้น ต้องระวังในเรื่องความสะอาด ปลอดภัยของภาชนะที่ใช้บรรจุ รวมทั้งการเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุถังอย่างไรให้ปลอดภัย ควรดูฝา ตรวจถังพลาสติกว่าไม่สกปรก ไม่มีรอยขีดข่วนมากนัก ก้นถังสะอาด ตัวถังพลาสติกไม่เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลืองเป็นต้น

เมื่อทราบชนิด ประเภทของภาชนะบรรจุและข้อมูลแล้ว คงพอตัดสินใจได้ในระดับหนึ่งแล้วนะคะ

แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีข้อกำหนดตามกฎหมายเกี่ยวกับภาชนะบรรจุอาหารประเภทพลาสติก คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกไว้แล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้เราควรระมัดระวังเอาใจใส่ด้วยตัวของเราเองจะดีกว่า เพราะชีวิตเป็นของเรา

คราวหน้ามาต่อข้อ 2 ค่ะ


Friday, 11 November 2011

น้ำท่วม: อย่าประมาท..เมื่อน้ำดื่ม (ประปา) ไม่ปลอดภัย

by meepole

จากข่าวที่รายงานว่า ..ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.นนทบุรี จากการสอบสวนพบผู้ป่วย 72 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือการดื่มน้ำประปาโดยไม่ได้ต้มสุก ซึ่งสอดคล้องกับน้ำประปาในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพต่ำ....” (http://www.matichon.co.th/วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554)

หลังจากนั้นมีการชี้แจงออกมา  ดังข่าว
กปน. เตือนให้ระวังน้ำท่วมเข้าถังพักน้ำใต้ดิน ยันท้องเสียไม่ได้เกิดจากน้ำประปา
นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) แจ้งว่าตามที่มีข่าวว่ามีผู้บริโภคน้ำประปาแล้วเกิดการท้องเสีย กปน.ขอชี้แจงว่าที่ผ่านมาแม้ว่าคุณภาพน้ำประปาในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมเข้าคลองประปา จะมีกลิ่นและสีผิดจากปกติ แต่ยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะได้เพิ่มการตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพน้ำทั้งในระบบน้ำดิบและการผลิตน้ำ โดยเพิ่มการใช้ด่างทับทิม POWER ACTIVATED CARBON หรือถ่านกัมมันต์ และคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ มั่นใจว่าปลอดภัย และอยู่ในมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด จึงไม่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้  ที่ผ่านมาน้ำประปา ก็ไม่เคยตรวจพบเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารใดๆ รวมถึงปริมาณโครเมียม แคดเมียม และตะกั่ว ในคลองประปา ก็ยังตรวจพบว่าดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ขณะนี้กปน.ได้ปรับปรุงคุณภาพน้ำและกระบวนการผลิตน้ำประปาจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ…"
ไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธ น่าเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ความจริงก็คือชาวบ้านท้องร่วงกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็แสดงว่าทุกคนในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการบริโภคเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตน้ำท่วมหรือไม่ หากจะมองว่าเป็นผลมาจากน้ำดื่ม ไม่ว่าจากน้ำประปาหรือน้ำบรจุขวดก็มีโอกาสที่จะเป็นสาเหตุของท้องเสียได้ทั้งสิ้น หากน้ำดังกล่าวนั้นปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค อาจเป็นด้วยขบวนการผลิต

แม้ว่าจะยืนยัน หรือนั่งยัน เอานายกฯมายันว่าน้ำที่ผลิตจากการประปานั้นได้มาตรฐาน เอาไปพิสูจน์กันที่ต้นทาง ก็เลยไม่เข้าใจว่า คิดไม่ได้หรือคิดไม่ถึง เพราะน้ำที่เขาร้องเรียนว่าขุ่น ไม่สะอาด อยู่ที่ระหว่างทาง หรือปลายทาง ซึ่งในระหว่างทางท่อใต้ดินอาจรั่วเป็นจุดๆ หรือชำรุดทำให้มีการซึมเข้าไปของดิน โคลน สารปนปื้อน จุลินทรีย์ต่างๆ ทำให้น้ำไม่ได้มาตรฐานดังจุดเริ่มต้น

 ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ควรประชาสัมพันธ์ เตือนชาวบ้านว่ายังไงๆช่วงนี้ขอให้พยายามต้มน้ำก่อนดื่ม ไม่ต้องไว้ใจและภาชนะที่บรรจุน้ำดื่มก็ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดเช่นกัน  หากน้ำมีการปนเปื้อนสามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV และผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานต่ำก็มีโอกาสเสี่ยงสูงเช่นกัน

แม้ว่าโดยปกติแล้วร่างกายของคนเรามีระบบป้องกันและระบบภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้นสามารถติดเชื้อได้ง่าย
การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร (GI) ที่พบในน้ำดื่ม รวมถึงเชื้อปรสิต เช่น เชื้อคริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium) และเชื้อไกอาเดีย (Giardia) แบคทีเรียเช่น เชื้ออีโคไล (E. coli) เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) และเชื้อชิเกลลา (Shigella) และเชื้อไวรัส เช่น เชื้อนอร์วอล์ค (Norwalk)

ขอย้ำว่า การบริโภคน้ำดื่มที่ไม่สะอาด การป้องกัน คือ ควรดื่มน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว หากมีความขุ่น ใช้สารส้มแกว่งเล็กน้อย วางทิ้งไว้ ให้ ตกตะกอน  ค่อยๆริน ส่วนใสด้านบนออกมา แล้วนำมาต้มให้เดือด เดือดแล้วต้มต่ออีกอย่างน้อย 10-15 นาที นะคะ  กรณีน้ำประปาขุ่นชัดเจน หรือมีสีคล้ำ meepole ไม่แนะนำให้เราใช้คลอรีนเติมอีก แม้ว่ากปน.จะเป็นผู้เติมอยู่แล้วหรือเติมไม่เพียงพอก็ตาม เพราะผลที่เกิดขึ้นอาจได้สิ่งไม่พึงประสงค์ที่อันตรายกว่าท้องร่วงเสียอีก (ขอยกไปเขียนวันหน้า เพราะต้องเขียนให้เข้าใจชัดเจนจริงๆ เชื่อเถอะค่ะหวังดีจริงๆ) และหากน้ำประปาที่ออกมามีกลิ่นคลอรีนก็ควรวางทิ้งไว้จนกลิ่นระเหยหมดก่อนจึงนำมาใช้

หากอยากจะทานน้ำแข็งก็เลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกหลักอนามัยไว้ใจได้ แต่ช่วงแบบนี้ meepole ขอบอกว่าควรเลี่ยงงดทานน้ำแข็งดีกว่า
หากทำอะไรไม่ได้มาก หรือไม่รู้จะทำยังไงดีกับน้ำดื่ม ก็ไม่ต้องทำอะไร ท่องไว้คำเดียว ต้มๆๆๆๆ ตอนนี้คงต้องบ้านใครก็บ้านคนนั้นที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะท้องร่วงบางครั้งอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว
คราวหน้าจะเอาเรื่องน้ำบรรจุขวดก็อาจไว้ใจไม่ (ค่อย)ได้ มาให้อ่านค่ะ
เข้าไปอ่านพบเรื่องจากกปน.เลยเอามาลิงค์ไว้เผื่อเกิดประโยชน์ในบางข้อ แต่กรณีการเอ่ยอ้างหน่วยงาน หรือรับรองผลการตรวจสอบน้ำเหล่านั้นว่าไม่มีสารพิษเชื้อโรค อันนี้ส่วนตัวในฐานะอาจารย์ผู้สอนพิษวิทยา ชีวเคมี นักวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อว่าถูกต้องค่ะ ทุกอย่างอยู่ภายใต้ ข้อจำกัดเงื่อนไขทั้งสิ้น ดังนั้นช่วงน้ำท่วมขังเช่นนี้ อย่างไรให้ระวังให้มาก ระเหยคลอรีนให้หมด แต่กระนั้นสิ่งที่meepole กังวลในน้ำนั้นไม่สามารถระเหยได้ค่ะ
ข้อแนะนำการใช้น้ำประปาในภาวะน้ำท่วม (กปน.) http://health.kapook.com/view32701.html

Wednesday, 9 November 2011

น้ำท่วม: สู้เชื้อโรคจากการลุยน้ำด้วยด่างทับทิม

by meepole

meepole ได้ยินข่าว ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ที่เพิ่งออกมาเตือน เรื่องการติดเชื้อจากการลุยน้ำ ตลอดจนข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์บางฉบับ เตือนหญิงมีประจำเดือนลุยน้ำท่วมเสี่ยงติดเชื้อ เนื้อข่าว..อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนผู้หญิงมีประจำเดือนเดินลุยน้ำท่วมอาจติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธุ์ได้ แนะใส่กางเกงพลาสติกทับกางเกงนอก...และสื่อก็เอามาเตือนในโทรทัศน์
ข่าวที่คล้ายๆแบบนี้ก็มีอีก

ซึ่งจริงๆแล้วตอนนี้ไม่ว่า หญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา มีความเสี่ยงของการติดเชื้อได้เหมือนกันหมด แต่สตรีในช่วงดังกล่าวร่างกายจะค่อนข้างอ่อนแอ และหากใครมีบาดแผลแล้วต้องลุยน้ำก็ยิ่งอักเสบติดเชื้อเพิ่มและลุกลามได้

ไม่เป็นไรเราพอสู้ได้ อย่าเครียด วันนี้ meepole ขอใช้ด่างทับทิมอีกเช่นกัน ด้วยมีคุณสมบัติที่สามารถทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (Pathogen Inactivation)จึงสามารถใช้ด่างทับทิมในการป้องกันและฆ่าเชื้อบนร่างกายเราหลังจากผ่านการลุยน้ำสกปรกในกทม. และที่อื่นๆที่กำลังท่วม ปกติด่างทับทิมถูกใช้เป็น  primary disinfectant มานานแล้ว

เมื่อสารนี้ละลายน้ำจะได้ permanganate ion (MnO4-)  ที่สามารถจัดการกับจุลินทรีย์ได้หลายชนิด(ไม่ทุกชนิด) เช่น แบคทีเรีย รา ไวรัส  โปรโตซัว และสาหร่าย เป็นต้น
ใช้สีขนาดขวดกลางนะคะ (มีขวดสีอ่อนและแก่ให้ไว้เป็นอ้างอิงเทียบกันค่ะ)
ขอขอบคุณ ผศ.ดร.รัตนา วงศ์ชูพันธ์และคุณณัฐพันธ์ สงวนศักดิ์บารมี นักวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี ที่ร่วมด้วยช่วยกันเตรียมสาร เตรียมภาพนี้ส่งมาให้เพื่อใช้เทียบสีให้เข้าใจง่ายขึ้น

ดังนั้นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะกิจอันนี้ ให้ใช้สารละลายด่างทับทิม เข้มข้น 0.01%( เทียบสีที่ให้มา ใช้สีในขวดกลาง ห้าม!! เข้มกว่านี้นะคะ( สีอ่อนกว่าเล็กน้อยได้) เดี๋ยวผิวหนังระคายเคือง)เตรียมใส่ถังหรือกาละมัง กลับมาจากการลุยน้ำก็ใช้ล้างขา หากลุยน้ำเปียกจนถึงเอวและน้ำนั้นสกปรกมาก ก็ให้ล้างตัวด้วยน้ำที่มีก่อน แล้วนั่งแช่ลงในน้ำด่างทับทิมที่เตรียมไว้ประมาณ10 นาที (ไม่ต้องนานกว่านี้นะคะ) โดยเฉพาะคนที่มีบาดแผล และต้องลุยน้ำบ่อยๆป้องกันการติดเชื้อ และฆ่าเชื้อที่มากับน้ำ แล้วก็อาบน้ำ(สะอาด) ล้างออก
 (ไม่ต้องตกใจหากแช่ได้ 2-3 ครั้งผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ ไม่นานจะจางหายไปเองเมื่อน้ำลด (หยุดใช้) ) มีวิธีเอาสีน้ำตาลออก ไว้บอกตอนน้ำลดแล้วนะคะ  :)

สารละลายเข้มข้นในระดับที่ใช้นี้ สามารถป้องกันรักษาแผลเปื่อย (eczema) เนื้อเยื่ออักเสบ (cellulitis )การอักเสบของช่องคลอด ปากช่องคลอด (vulvovaginitis) ได้  และควรทำทุกครั้งนะคะเมื่อลุยน้ำสกปรกมา
ทั้งหมดนี้อย่าลืมว่าใช้ในยามจำเป็นยามนี้ หากมีอาการเรื้อรังก็ต้องไปหาแพทย์

และอีกเช่นกันต้องเตือนกันว่าด่างทับทิมก็เหมือนสารเคมีทั่วไปที่เป็นอันตรายหากใช้ไม่ถูกต้อง และด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวมันที่เป็น oxidizing agent (ไม่เข้าใจก็มองผ่านไปเลย ) มันก็เลยมีปฎิกิริยารุนแรงเวลาเจอกับสารคู่อริ (บางชนิด) แต่กับน้ำเราสามารถเอาด่างทับทิมมาละลายน้ำได้ แต่มันไม่ค่อยชอบน้ำเย็นสักเท่าไหร่ เวลาอยากจะเอาใจให้มันละลายได้ง่ายๆก็ละลายในน้ำอุ่น(อุ่น ไม่ไช่ร้อนนะคะ) ไม่ไช่แบบชงกาแฟ

อย่าลืมนะคะน้ำที่เราลุย มีเชื้อโรคสารพัดอยู่ มีพยาธิ จุลินทรีย์เยอะแยะทั้งอันตรายและไม่อันตราย แต่ยังไงเราก็มองไม่เห็น ดังนั้นพยายามอย่าให้เข้าทุกทวารของเรา หู ตา จมูก ปาก และช่องอื่นๆที่เป็นช่องทางเข้าในร่างกายรวมทั้งบาดแผลด้วย และกลับที่พักแล้วต้องชำระล้างร่างกายก่อน (อย่านั่งรอให้ตัวแห้ง จนลืม) เช็ดตัวให้แห้ง ปะแป้งให้หอม ช่วยลดความชื้นได้ด้วย
เพียงแค่นี้คงสบายใจขึ้นนะคะ พร้อมที่จะไปลุยต่ออย่างไม่เครียด

อ้างอิง : EPA. Guidance Manual  Alternative Disinfectants and Oxidants , 1999.

Friday, 4 November 2011

น้ำท่วม: การใช้ด่างทับทิมบรรเทาน้ำกัดเท้า และบาดแผล

by meepole

รู้จักน้ำกัดเท้ากันก่อน

โรคน้ำกัดเท้าไม่ไช่เพราะน้ำ (ที่ไม่มีปาก) กัดเรา หรือเป็นเพราะเท้าแช่น้ำ แต่โรคน้ำกัดเท้า เป็นผลจากการติดเชื้อราที่เท้า มักจะเป็นบริเวณง่ามนิ้วเท้า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อราที่ชื่อ Trichophyton rubrum เชื้อรากลุ่มนี้จะสร้างเอนไซม์ออกมาย่อย keratin ที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแตกเป็นแผล และมีอาการต่างๆตามมา
อาการที่พบได้ คือมีอาการคัน และมีอาการเจ็บบริเวณง่ามนิ้วเท้า บางครั้งจะพบเป็นตุ่มน้ำ หรือพบเป็นแผล ในผู้สูงอายุ อาจพบเป็นสะเก็ด และผิวหนังแห้ง บริเวณง่ามนิ้วเท้า จะแดง ลอก มีรอยแตก หรือมีสะเก็ด พบบ่อยที่สุดที่ระหว่างนิ้วกลาง นิ้วนาง และระหว่างง่ามนิ้วนางกับนิ้วก้อย บางคนที่มีแผล อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดในที่มีอากาศร้อนชื้น ภาวะน้ำท่วม แช่น้ำนานๆ หรือการใส่รองเท้าที่อับชื้นเป็นเวลานานๆ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น (ขอบคุณ http://www.komchadluek.net/)

การใช้ด่างทับทิมกับโรคน้ำกัดเท้า

ดังนั้นในช่วงน้ำท่วมที่เท้าเราต้องแช่น้ำเป็นเวลานานกว่าปกติ เท้าของแต่ละคนบอบบางไม่เท่ากัน บางคนเท้าหนา บางคนเนื้อบาง แต่ตรงที่บางมากของฝ่าเท้าคือ ง่ามนิ้วนั่นเอง น้ำกัดเท้าจึงมักเริ่มที่ง่ามนิ้วก่อน จะเห็นว่าเริ่มเป็นสีอมชมพู คัน และเปื่อยสลับกัน และเมื่อเกามากๆก็เกิดแผลที่มากขึ้น ลามไปทั่วและเป็นช่องทางให้เชื้ออื่นๆที่มากับน้ำโจมตีเข้าไปในร่างกายได้ง่าย ดังนั้นนอกจากจะพยายามสุดความสามารถที่จะไม่ให้เท้าแช่ในน้ำนานเกินไปแล้ว ก็พยายามทำให้เท้าแห้งโดยเร็ว หลังจากลุยน้ำ (ที่สกปรกแน่นอน) เมื่อเข้าที่พักให้พยายามล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วใช้แป้งเด็กกระป๋อง โรยง่ามเท้า รองเท้าต้องไม่อับ มีแดดหมั่นผึ่งแดดให้แห้ง
คุณผู้ชายที่ใส่ถุงเท้าต้องไม่ใส่ถุงเท้าที่เปียกชื้น ให้รีบถอดตากแห้ง  และก่อนใส่ถุงเท้าเช็ดเท้าให้แห้งก่อน เพราะน้ำที่คุณย่ำอยู่ตอนนี้ล้วนน้ำสกปรกมากทั้งสิ้น ไม่ใส่ขณะที่เท้าชื้น ให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดก่อน หากเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้ว ไม่สบายเลย
หากตอนนี้เริ่มมีอาการเปื่อยคันที่เท้า และยังไม่มียารักษา (ตอนนี้ทราบว่าขาดชั่วคราว เภสัชจุฬา กำลังผลิตอยู่-ตามข่าว) ตอนนี้ก็ใช้ด่างทับทิมบรรเทาไปก่อน ดังนี้

ใส่ด่างทับทิมในกาละมังที่จะแช่เท้า ให้เป็นสีชมพูบานเย็น (ประมาณ 10 มิลลิกรัม/ลิตร) เตรียมสารละลายด่างทับทิมจนเป็นสีที่ให้มา(ดังรูป A) ขอย้ำว่าอย่าให้สีเข้มเกินจากรูปที่ให้มานี้ (อย่าลืมคนให้ละลายหมดก่อนจึงแช่เท้า) แช่นานครั้งละ 15 นาทีทุกเช้าและบ่าย (เอาเป็นว่าวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง ทิ้งระยะเวลาห่างกันหน่อย) ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วเท้าคุณจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลสักช่วงหนึ่ง แต่อย่ากังวลนะคะ เพราะเชื้อราที่วุ่นวายกับขาคุณจะค่อยๆตายจากไป พร้อมกับสีน้ำตาลจะค่อยๆจางลงในเวลาไม่นานนัก ตอนน้ำลด meepole จะบอกให้ว่าจะแก้สีน้ำตาลได้อย่างไร

รูป A             รูป B

ภาพ (ซ้ายมือ รูป A )นี้เป็นสีของสารละลายด่างทับทิมที่ความเข้มข้น10 มิลลิกรัม/ลิตร (ขวามือ เป็นความเข้มข้น 20 มิลลิกรัม/ลิตร ..สีเข้มกว่า) ได้เตรียมสารละลายในห้องปฎิบัติการ เอาภาพมาให้เปรียบเทียบดูสีกันค่ะ

meepole ต้องขอขอบคุณ ผศ.ดร.รัตนา วงศ์ชูพันธ์และคุณณัฐพันธ์ สงวนศักดิ์บารมี นักวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี ที่ร่วมด้วยช่วยกันเตรียมสาร เตรียมภาพนี้ส่งมาให้เพื่อใช้เทียบสีให้เข้าใจง่ายขึ้น (จะมีภาพแถบสีเทียบความเข้มข้นของด่างทับทิมใช้เทียบในบทความต่อไปค่ะ)

นอกจากจะช่วยให้สะอาดแล้ว หากมีบาดแผลอื่นๆสารละลายด่างทับทิมยังช่วยบรรเทาอาการปวด ทำให้แผลหายเร็ว และลดการอักเสบได้
หากน้ำลดและสามารถออกมาหาซื้อยารักษาได้ก็จะดีนะคะ อย่าปล่อยให้ลามขยายกว่าที่เป็น

ข้อระวังการใช้
ไม่ให้สารละลายด่างทับทิมเข้าตา ดังนั้นไม่ควรใช้สารละลายด่างทับทิมล้างหน้านะคะ และผู้หญิงมีครรภ์การใช้สารละลายด่างทับทิมต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ท้ายสุดนี้ยังไงก็อย่าลืมนะคะว่า ห้ามใช้มือเปล่าหยิบด่างทับทิมเป็นอันขาด อันตรายค่ะ

ช่วงนี้ยามที่อะไรๆก็ยังไม่ลงตัวก็ดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรง คนที่น้ำไม่ท่วมบ้านก็ช่วยบอกต่อไปยังคนที่ประสบปัญหาด้วย ถือว่าจะได้ร่วมด้วยช่วยกันในยามนี้ บอกต่อ ก่อบุญค่ะ

คราวหน้าจะเป็นเรื่อง การใช้ด่างทับทิมในการฆ่าเชื้อชนิดต่างๆในน้ำ (อาจเป็นวันอังคาร เพราะตอนนี้ต้องเตรียมตำราสอนนศ.อาทิตย์หน้า)
อ้างอิง
http://webdb.dmsc.moph.go.th/
http://miniscience.com
http://www.medicinenet.com/

Wednesday, 2 November 2011

น้ำท่วม: การใช้ด่างทับทิมในครัวเรือน

by meepole


จากตอนที่แล้วได้บอกว่าสารทุกชนิดเป็นพิษ มากน้อยขึ้นกับปริมาณที่ใช้ ดังนั้นปริมาณที่ใช้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องระมัดระวัง การนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดจึงต้องศึกษาให้รู้ ทำความเข้าใจก่อนใช้ เพราะปริมาณการใช้ที่ถูกต้องย่อมเกิดประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์

ดังนั้นตอนนี้จึงขอเขียนเรื่องของการนำด่างทับทิมมาใช้ประโยชน์ต่างๆกัน ปริมาณ/หน่วย ที่เขียนนี้ผู้อ่านหากไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์อาจนึกจินตนาการปริมาณไม่ชัด ดังนั้น meepole จะนำมาแสดงเป็นสีตามความเข้มข้นต่างๆ เพื่อให้เปรียบเทียบอย่างเห็นภาพ (ต้องไปเตรียมที่ห้องปฎิบัติการก่อน แล้วจะถ่ายภาพนำมาลงในโอกาสต่อไป) แต่ตอนนี้จำก่อนว่าให้สีชมพูอ่อนใสไว้ก่อน จะปลอดภัยต่อเราและก็ฆ่าเชื้อได้ในระดับหนึ่งแล้ว

การใช้ด่างทับทิมล้างผัก ผลไม้

วิธีการใช้คือ ใช้ปริมาณด่างทับทิม 3-5 เกล็ดต่อน้ำ 2 ลิตร (เกล็ดด่างทับทิมเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน บางบริษัททำจนเป็นผง ก็คงต้องลองค่อยๆใส่ทีละน้อยๆแล้วคนให้ละลาย พอเริ่มเห็นเป็นสีชมพูอ่อนก็ใช้ได้)

การตวงน้ำก็ใช้ขวดน้ำดื่มวัดปริมาตรน้ำ ไม่แน่ใจว่าใช้ปริมาตรน้ำเท่าใดก็เอาไปผสมในขวดน้ำดื่ม แล้วดูปริมาตรน้ำที่ข้างขวดว่าปริมาตรเท่าใด (จะได้สีชมพูอ่อนใส ดูรูปจากบทความก่อนหน้านี้) และคนให้ละลายหมดก่อน(เขย่าขวดเบาๆก็ง่ายดี) จึงใส่ผักลงไป (ในกาละมัง หรือภาชนะ ไม่ไช่ในขวดนะเจ้าคะ)  แช่ผักทิ้งไว้นานอย่างน้อย 10 นาที และไม่ควรนานเกินไป แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 2 ลิตร นาน 2 นาที หรือสังเกตดูต้องไม่มีสีชมพูค้างอยู่
อันนี้จะช่วยป้องกันอหิวาตกโรค (cholera) และโรคที่มากับน้ำบางชนิดได้
และยังสามารถช่วยลดสารเคมีตกค้างได้ประมาณ 30-40% ด้วย



หมายเหตุ หากสังเกตุให้ดีขวดน้ำดื่มแต่ละยี่ห้อมีปริมาตรไม่เท่ากัน เป็นเรื่องของการทำธุรกิจกับราคา ที่บางครั้งผู้ซื้อไม่สังเกตุเทียบปริมาตรดูแต่ราคา เพราะต่างเล็กน้อย ขวดแรกเขียนว่า 1500 ml  (คือ1.5 ลิตร) ขวดที่สองเขียนว่า 600 ml (คือ 0.6 ลิตร)  ขวดที่สามเขียนว่า 500 ซม3  (นี่ล่ะครึ่งลิตร) ขวดที่สี่เขียนว่า 330 ml หรือ 330 มล. สุดท้ายแก้วน้ำเขียนว่า 220 cm3 

อันนี้อย่าเข้าใจผิดคิดว่า meepole ใส่หน่วยวุ่นวายจังนะคะ เพราะนี่ลอกมาจากข้างขวดเลย  หน่วยปริมาตรน้ำดื่มก็ยอดมากของใครของมัน หน่วยไทยบ้าง ตปท.บ้าง งงดี ไม่มีอะไรเป็นมาตรฐานเลย

ช่วงนี้ที่น้ำใช้ไม่สะอาดก็หลีกเลี่ยงการทานผักสด หากมีเปลือกก็ปอกผิวเปลือก ผลไม้ก็เช่นกัน แต่หากอยากทานจริงๆก็ควรทำตามวิธีข้างต้น

ตอนหน้าจะเป็นเรื่อง การใช้ด่างทับทิมเพื่อแก้น้ำกัดเท้า