Friday, 26 August 2011

อาหารต้องห้ามสำหรับผู้เป็นมะเร็ง

อาหารต้องห้ามสำหรับผู้เป็นมะเร็ง


หลายวันมาแล้วได้ไปเยี่ยมอาจารย์ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ได้เห็นอาหารต้องห้ามที่มีคนเอามาเยี่ยมหลายอย่าง เลยคุยให้ภรรยาท่านฟังว่าควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกใดบ้าง เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์บ้างเลยนำมาไว้ที่นี่


ทุกคนที่เป็นโรคนี้ต่างก็ต้องพยายามหาหนทางรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งไม่มีหลักตายตัว สุดแท้แต่ตำแหน่งที่เป็น สภาพร่างกาย และความเชื่อของแต่ละบุคคล นอกจากการรักษาโดยวิธีต่างๆแล้ว การควบคุมชนิดของอาหารเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งควรต้องงดรับประทาน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และลดการขยายตัวของโรค ดังต่อไปนี้

1. อาหารกลุ่มที่จะทำให้ท้องอืด แน่นท้อง : ได้แก่ ข้าวเหนียว เนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก ขนุน เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งนั้นต้องระมัดระวังเรื่องระบบย่อยอาหารเป็นพิเศษ เพราะถ้าย่อยยาก เกิดท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือแน่นท้อง จุกแน่น จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะมักจะแก้ไขยาก ควรรับประทานโปรตีนจากเนื้อปลาแทน

2. อาหารเผ็ดจัด เช่น แกงเผ็ด น้ำพริก ซึ่งจะทำให้แสบร้อนและระคายเคืองทางเดินอาหาร ทำให้พื้นที่ดูดซึมสารอาหารในลำไส้ลดลง ร่างกายก็จะรับสารอาหารได้ไม่เต็มที่ และสารในพริกจะกระตุ้นการบีบรัดตัวของลำไส้และกระตุ้นกระเพาะอาหาร อาจทำให้เกิดอาหารท้องเดิน และมีแผลในกระเพาะได้



3. อาหารไขมันสูง รวมทั้งครีม ไอศกรีม เพราะไขมันจะไปเกาะที่ตับ ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

4. อาหารเค็มจัด เพราะกรณีที่ผู้ป่วยมีระบบปัสสาวะไม่ดี การรับประทานอาหารที่เค็ม อาจทำให้เกิดอาการบวมได้

5. อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมาก ของหวาน เช่น เครื่องดื่มพวกน้ำอัดลม น้ำหวาน ลูกกวาด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลซึ่งดูดซึมได้ง่าย ไปก่อให้เกิดระดับแรงดันสูงที่ลำไส้ ซึ่งจะนำไปสู่อาการท้องเสีย

6. อาหารกระป๋องทุกชนิด ที่ใส่สารกันบูด รวมทั้งอาหารที่ผ่านกรรมวิธีทำให้แห้งหรือเป็นผง ของหมักดองหรือผักดองต่างๆ

นอกจากนี้มีพวกเครื่องเทศบางชนิดที่มีรสร้อนแรง ชา กาแฟ สุรา น้ำตาลฟอกขาว แป้งขัดขาว เค้ก แตงกวา สับปะรด  อะโวคาโด และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกของการรักษา คือ นม ชีส เนย ปลา เนื้อสัตว์ และไข่


ดังนั้นอาหารที่จัดให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง ควรเน้นอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและเสริมโปรตีน เพื่อให้ร่างกายที่ชำรุด มีโอกาสซ่อมแซมคืนสภาพเดิม ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น ภูมิคุ้มกันก็จะดีขึ้นตามลำดับที่สำคัญเหนืออื่นใดคือการให้กำลังใจ ไม่ทอดทิ้งกัน และการทำอารมณ์ให้ไม่เครียด อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรที่ต้องเกิดก็เกิดไปแล้ว เหลือแต่เราที่ต้องระวังประคับประคองอารมณ์ให้เป็นปกติสุขเท่าที่ทำได้
 

Friday, 19 August 2011

อันตรายของไอน้ำมันในครัว

ไอน้ำมันอันตรายกับการระบายอากาศในครัว 

by meepole


 หลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่า"ไอระเหย"หรือ "ควันน้ำมัน" ของน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารในครัว ทั้งทอด และตั้งเตรียมรอปรุงจนร้อนจัดขึ้นควัน ระเหยอยู่ในครัว แม่บ้าน สมาชิกทั้งหลายในบ้านดมกลิ่นกันมานักต่อนักแล้วนั้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากทีเดียว
งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าห้องครัวที่ไม่มีระบบการระบายอากาศที่ดี เช่น ห้องครัวในคอนโดมิเนียม แฟลต ฯลฯ ก็อาจเกิดมลพิษในบ้านได้ และอาจเสี่ยงต่อไอน้ำมันที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด 

แม่บ้านทั้งหลายอาจลองสังเกตดูตัวเองก็ได้ หากท่านทอดอาหารนานๆหรือได้รับไอน้ำมันมากเกินไปจะรู้สึกคอแห้ง บางคนอาจมีอาการคลื่นเหียนผะอืดผะอมได้

รายงานการวิจัยจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์พบว่าไอระเหยของน้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วลิสง และน้ำมันเรฟซีดที่ผ่านความร้อน 260 C มีสาร Benzo (a) pyrene, Benzo (a) anthracene, Chrysene และ Benzofluoranthenes ซึ่งเป็นพีเอเอช (PAH) ชนิดก่อให้เกิดมะเร็งปริมาณสูงประมาณ 100-1,000 เท่าของน้ำมันข้าวโพดและน้ำมันถั่วลิสงใหม่ (Siegmann K, Sattler K.1996)

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกๆคนในครอบครัว นอกจากจะทานอาหารอร่อยแล้ว ก็ควรเอาใจใส่ต่อระบบระบายอากาศในอาคารบ้านเรือน เปิดหน้าต่างหรือเครื่องดูดควันเพื่อให้ไอน้ำมันได้ระเหยออกไปมากที่สุด อย่าให้ค้างในบ้าน อย่าลืมสำรวจครัวของท่านนะคะ

อ้างอิง
Siegmann K, Sattler K. Aerosol from hot cooking oil, a possible health hazard. J Aerosol Sci. 1996;27 Suppl 1:S493-4.

Sunday, 14 August 2011

เหรียญสองด้าน 1: เบื่อ แปลกใจ เศร้าใจ

 เบื่อ  แปลกใจ  เศร้าใจ

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเวลาว่างเปิดช่องดาวเทียมเพื่อเวียนดูรายการภาพยนตร์ช่องต่างๆ แต่ทุกครั้งที่กดหาช่องจะเกิดความเบื่อ แปลกใจและเศร้าตามมา แล้วก็รีบบอกตัวเองว่า ช่างเขาเถอะ เราทำอะไรไม่ได้ นอกจากเขียน บอกต่อกับคนที่บอกได้ และให้ความรู้และความคิดแก่นักศึกษาที่สอน มันเป็นดาบสองคมของผู้บริโภคจริงๆ

เบื่อ...ที่มีโฆษณาสินค้าตัวเดียวกันเกือบทุกช่อง แทบจะเรียกว่าผูกขาด หรือทุ่มสุดตัว ส่วนมากเป็นกลุ่มอาหารเสริม สินค้าดูแลสุขภาพพวกเอนไซม์ที่มาฮอตสุด  สินค้าเสริมความงามในรูปแบบต่างๆ ผิวหน้าที่ต้องการความกระจ่างใส ไร้สิวฝ้า หน้าย่น ทั้งทา ทาน   ที่มอมเมามากขึ้นก็คงเป็นรูปแบบสารที่ทานแล้วกระชากวัยคุณผู้ชายกลับมาได้ meepole จำได้ว่าเคยมีการร้องเรียนยาตัวนั้นมาแล้วและได้มีการประกาศโดยหน่วยงานรัฐไม่ให้มีการโฆษณา ยาดังกล่าว  แต่กลับยังคงมีในช่องดาวเทียมได้ตลอด หรือช่องพวกนี้ไม่ถูกควบคุม หรือเป็นทางออก หรือ ???

นอกจากนี้ในช่องดาวเทียมยังมีรายการอีกหลาย เรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลมากมาย รายการทำนายทายทักเป็นจริงจังไปหมดลองฟังคำถามคำตอบถ้าตั้งสติดีๆ จะหัวเราะได้เลยก็เพราะคนถาม ตอบเองแล้วให้เขาทายทำไม meepole ก็ตอบได้ หุ หุ

แปลกใจ...ความแปลกใจ เกิดจากการที่ได้เห็นผู้นำเสนอหรือพิธีกร หรือ presenter สินค้าหลายรายการเป็นคนที่ดูว่าน่าจะมีความรู้ หลายคนเป็นที่รู้จักกันดีของสังคมเพราะออกรายการปกติหลายช่องและประกอบอาชีพหลักที่ไม่ควรเข้ามารู้ดีมากมายเกี่ยวกับสารเอนไซม์ได้เลย  ทำให้เวลาพวกคนเหล่านั้นพูดเหมือน "นกแก้ว" พูดได้หัวปักหัวปำ คล่องมาก ยังไงยังงั้นเห็นแล้วเสียดาย คน จริงๆไม่น่าเลย !!

แปลกใจ...ที่ผู้รับจ้างนำเสนอ โฆษณาสินค้าเหล่านั้นเชื่อใจ เพราะเคยทดลองใช้สินค้านั้นก่อน เห็นผลจริงแล้วเกิดศรัทธาอย่างนั้นหรือ ??  ถ้าไม่ไช่ก็แสดงว่า เงินมีอิทธิพลเหนือจิตสาธารณะจริงๆ

เศร้าใจ ... เศร้าใจที่ไม่น่าเชื่อเลยสำหรับคนที่เป็นคนของประชาชนเหล่านั้นจะสามารถใช้ความเชื่อถือของผู้บริโภค ของชาวบ้าน ที่มีศรัทธาในอาชีพของตนเพราะเป็นคนสาธารณะ  มาทำสิ่งนี้ น่าเศร้าใจ!!!!
เศร้าใจ..ที่เห็นบางสินค้า ใช้นักบวช ชาวบ้าน คนแก่ๆ มาร่วมตอบคำถามของพิธีกรเพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้แล้วได้ผล
เศร้าใจ..ที่เห็น presenter สาวๆของบางสินค้าที่ต้องแต่งกายในชุดที่เหมาะกับสินค้าบางประเภทเพื่อเน้นให้เห็น ก็ไม่แน่ใจว่าพวกเธอเหล่านั้นจะรู้คิดอะไรบ้างหรือไม่ แต่meepole คิดเศร้าแทนพ่อแม่เขาว่านั่นเป็นอาชีพที่ไม่มีทางเลือกจริงๆหรืออย่างไร
เศร้าใจ..เมื่อมาคิดว่าหากไม่มี demand ก็ ไม่มี supply แต่นี่ที่โฆษณากันมากมายก็แสดงว่าน่าจะได้ผลคงมีผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อหาไปบริโภคกัน แสดงว่าคนไทยเรายังขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพกันมาก (ไม่กล้าคิดว่าขาดการศึกษา) เลยมีช่องว่างให้ผู้ที่อาศัยความไม่รู้ เป็นช่องทางทำมาหากิน
เศร้าใจ..ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ ช่างดูดายปล่อยให้มีสิ่งนี้เกลื่อนกลาด จะตามจี้เอาเรื่องเมื่อมีปัจจัยบางประการ หรือสถานการณ์บังคับเป็นตัวกระตุ้น อยากให้มีผู้ที่ทำหน้าที่  ทำด้วยความรู้สึกที่ต้องรับผิดชอบ เป็นห่วงประชาชนคนไทยด้วยกันนั้น จะได้ไม่ต้องเห็นการโฆษณาสินค้าที่ใช้แล้วเสี่ยง สินค้าไม่ผ่านการรับรอง แม้กระทั่งสินค้าที่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาแล้ว มาโผล่ที่ช่องดาวเทียมกันเกลื่อนกลาดเช่นทุกวันนี้

Friday, 12 August 2011

การเลือกใช้น้ำมันพืชเพื่อถนอมสุขภาพ ฉบับแม่บ้าน

การเลือกใช้น้ำมันพืชเพื่อถนอมสุขภาพฉบับแม่บ้าน 1 

โดย meepole

เมื่อน้ำมันราคาแพงขึ้น เราก็ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นอกจากจะลดอาหารทอด หรืออาหารที่ปรุงมันๆ แล้ว เราก็ลองหันมาสนใจการเลือกใช้น้ำมันพืช ให้ปลอดภัย ห่างไกลโรค กันเถอะค่ะ

   เมื่อน้ำมันราคาแพงขึ้น เราก็ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นอกจากจะลดอาหารทอด หรืออาหารที่ปรุงมันๆ แล้ว เราก็ลองหันมาสนใจการเลือกใช้น้ำมันพืช ให้ถนอมสุขภาพด้วย (ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงน้ำมันจากสัตว์) บางคนอาจคิดว่าขอให้เป็นน้ำมันพืชเถอะ ปลอดภัยทั้งนั้น จะดูที่ราคาเป็นหลัก อันนี้ถ้าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็อาจว่าถูกต้อง ถ้าคุณภาพมันไกล้เคียงกัน ก็ควรเลือกที่ถูกกว่า แต่ถ้านักวิทยาศาสตร์ หรือนักโภชนาการก็คงว่าไม่ไช่ แต่ที่จะเขียนนี้ จะเขียนในฐานะแม่บ้านที่จะออกไปเลือกซื้อน้ำมันพืชมาใช้ปรุงอาหารและจะให้ถนอมสุขภาพคนในบ้านด้วย ว่าควรเลือกอย่างไร ดังนั้นก็จะไม่อิงวิชาการให้ลึกมากถึงระดับโครงสร้างน้ำมัน แต่จะแบ่งแบบเข้าใจง่ายๆเป็นหลัก (ดังนั้นหากนักวิชาการเข้ามาอ่าน โปรดแปลงร่างเป็น แม่บ้าน พ่อบ้านก่อน นะคะ :)

ประเภทน้ำมันพืชที่ใช้ 
น้ำมันพืชที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน มี  2 ชนิด (แบ่งแบบเข้าใจง่ายๆ)  คือ

 1.น้ำมันพืชชนิดที่เมื่อนำไปแช่ตู้เย็นหรืออากาศเย็นจะเป็นไข  น้ำมันพืชชนิดนี้จะประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวผสมอยู่ในปริมาณมาก ได้แก่ น้ำมันปาล์มโอเลอิน น้ำมันมะพร้าว
ถ้ารับประทานมากเกินไป จะทำให้เกิดโคเลสเตอรอลในเลือดสูง เกิดการอุดตันของเส้นเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด

2.น้ำมันพืชชนิดที่ไม่เป็นไขในที่เย็น น้ำมันพืชชนิดนี้ ประกอบด้วย ไขมันชนิดไม่อิ่มตัวในปริมาณสูงที่สำคัญคือ (โอเมกา) Omega-3 และ Omega-6 เป็นกรดไขมันจำเป็น ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด น้ำมันฝ้าย
โอเมก้า 3  จะช่วยให้สมองและดวงตาทำงานได้ดี
โอเมก้า 6  จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
โอเมก้า 9  จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ 
ไขมันชนิดนี้เหมาะกับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต เพราะย่อยง่าย และช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงจึงควรเลือกใช้น้ำมันชนิดนี้


ข้อเสียของน้ำมันชนิดนี้คือ สามารถแตกตัวให้สารโพลาร์ซึ่งทำให้น้ำมันเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นหืน ทำให้ทอดอาหารได้ไม่นาน จึงเหมาะกับที่จะใช้ผัดอาหารหรือทอดเนื้อชนิดบาง ๆ เช่นแฮม เบคอน หมูหั่นบางๆ


(อ่านเรื่องอันตรายสารโพลาร์ได้ ในเตือนอันตราย..ตอนที่สอง)

ถึงตรงนี้ก็คงสรุปได้แล้วนะคะว่า ไขมันที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ จะเป็นไขมันที่อยู่ในกลุ่มไขมันไม่อิ่มตัว แต่หากน้ำมันนั้นมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมากเท่าใด การเสื่อมสภาพของน้ำมันจะเร็วขึ้นเท่านั้น (หากไม่เข้าใจเรื่องกรดไขมันไม่อิ่มตัว ก็ไม่ต้องสนใจ จำชื่อของน้ำมันอย่างเดียวก็พอ) อันนี้ก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอาแบบไหน ประหยัดหรือสุขภาพ
    น้ำมันมะกอก (olive oil) เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของกรดโอลิอิก (Oleic acid) ซึ่งจะไม่เพิ่มระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และเป็นแหล่งของวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidants) ช่วยลดการเกิดมะเร็ง และช่วยลดการทำลายหลอดเลือด ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน

     น้ำมันคาโนลา (Canola oil)

น้ำมันคาโนลามาจากต้น rapeseed เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของ กรดโอลิอิก ซึ่งจะช่วยลดไขมันในเลือดชนิด LDL ที่เป็นโคเลสเตอรอลที่ไม่ดีให้ลดลง และมีส่วนประกอบของ Omega-3 และ Omega-6  ซึ่ง Omega-3 มีส่วนช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ และลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ที่เป็นต้นเหตุให้เส้นเลือดหัวใจอุดตัน จึงมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ

นักวิจัยพบว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นที่เราใช้อยู่ปัจจุบันคือ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดฝ้าย มีส่วนของ omega-6 มากกว่า omega-3 ซึ่ง omega-6 นี้แม้จะมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ถ้าได้รับมากเกินไป ก็เป็นต้นเหตุให้ความดันเลือดสูง ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดง่ายขึ้น ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ง่าย และทำให้ร่างกายบวมน้ำ

ดังนั้นถึงแม้เราจะใช้ไขมันเหล่านี้ปรุงอาหาร ก็ควรหลีกเลี่ยงอย่าใช้มากเกินจำเป็น และหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันมาก เช่น ของทอด หรือผัด ควรทานอาหารประเภทต้ม หรือนึ่งมากกว่า

ชนิดของน้ำมันกับจุดเกิดควัน

  ขณะให้ความร้อนกับน้ำมันที่อุณหภูมิสูง สิ่งที่พบคือจะมีควันเกิดขึ้น น้ำมันแต่ละชนิดจะเกิดควันขึ้นที่อุณหภูมิแตกต่างกัน ซึ่งเป็นคุณลักษณะจำเพาะของน้ำมันแต่ละชนิด เราเรียกอุณหภูมินี้ว่า จุดเกิดควัน
น้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูง คือเกิดควันที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 240 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะดี จะปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าน้ำมันที่มีจุดเกิดควันต่ำ โดยช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งที่มีในควันน้ำมันเมื่อประกอบอาหารประเภทผัด ทอด นั่นเอง 
น้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูง เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน คาโนลา ถั่วลิสง  
  • ขอแนะว่าการทอดด้วยน้ำมันรำข้าว มีโอกาสเกิดสารก่อมะเร็งต่ำกว่า และมีความปลอดภัยกว่าน้ำมันทุกชนิด (น้ำมันรำข้าวมีจุดเกิดควันที่ 254 องศาเซลเซียส) สูงกว่าน้ำมันหลายๆชนิด และด้วยสมบัติบางประการ น้ำมันนี้ไม่ก่อตัวเป็นคราบเหนียว เกาะตามบริเวณต่างๆในครัวเหมือนน้ำมันอื่นๆ
  • น้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าวมีจุดเกิดควันค่อนข้างสูง ใช้ทอดได้ แต่ไม่ดีกับสุขภาพ เนื่องจากมีไขมันอิ่มตัวสูง
  • แม้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวปริมาณมากมีจุดเกิดควันสูงและเสถียรมากกว่าน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว แต่ถ้าได้รับความร้อนสูงมากกว่า 150 C  กรดไขมันอิ่มตัวสามารถเสื่อมสภาพลงได้เช่นกัน
 อ่านถึงตรงนี้แล้ว แม่บ้านผู้ชำนาญการทุกท่าน คงมีแนวคิดในการเลือกใช้น้ำมันปรุงอาหารเพื่อถนอมสุขภาพ ในครอบครัวแล้วนะคะ บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องใช้น้ำมันที่แพงขึ้น แต่ถนอมสุขภาพ เพราะเวลาป่วยด้วยสาเหตุของไขมันนั้น ล้วนอันตราย และค่ายาแพงกว่าค่าน้ำมันมากค่ะ สำหรับ meepole ใช้น้ำมันสำหรับทอด และผัดคนละชนิดกันค่ะ

คราวหน้าจะเป็นเรื่อง อันตรายของไอน้ำมัน  ต้องไม่พลาดนะคะ

Thursday, 11 August 2011

เตือนอันตราย..เมื่อน้ำมันพืชแพง 2

เตือนอันตราย..เมื่อน้ำมันพืชแพง 2

เมื่อของแพงขึ้น ผู้ผลิต ผู้ขาย ที่ไม่มีมนุษยธรรม ติดแต่แสวงหากำไรอย่างเดียว ก็มักจะมีวิธีการต่างๆที่จะลดต้นทุน แม้ว่ามันจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก็ตาม เราคงต้องระมัดระวังศึกษาข้อมูลแล้วเตือนต่อๆกัน ก็จะช่วยสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

โดย meepole

คนไทยอาจเคยชินกับการใช้น้ำมันทอดซ้ำค่อนข้างมาก ก็เลยไม่ค่อยรู้สึกอะไรเวลาเห็นน้ำมันที่ทอดอาหารมีสีคล้ำมาก พฤติกรรมการใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับครัวเรือน แผงลอย ร้านอาหาร ภัตตาคาร  แม่ค้าขายของทอดต่างๆ บางรายอาจจะกรองกากที่เหลือในแต่ละวันออก ทิ้งให้ตกตะกอนแล้วเอามาใช้ซ้ำ ผสมกับของใหม่เพื่อประหยัด วนเวียนอยู่เช่นนี้ แม้กระทั่งในครัวบ้านเราเองบางครั้งยังใช้น้ำมันทอดที่เก็บสะสมไว้เพราะเสียดาย  แทนที่จะใช้ครั้งละน้อยๆ จะได้เหลือน้อย ทิ้งได้ไม่เสียดาย

การเกิดและผลของสารประกอบในน้ำมันทอดอาหารซ้ำในสัตว์ทดลอง

การศึกษาในสัตว์ทดลองยืนยันว่า สารประกอบบางชนิดที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทอดอาหารทำให้คุณค่าทางโภชนาการของอาหารลดลงและเป็นสารก่อกลายพันธุ์ (Chow CK., 2000) นอกจากนี้ยังพบสารก่อมะเร็งทั้งในน้ำมันทอดอาหารซ้ำและในไอระเหยด้วย

กลุ่มสารก่อมะเร็งเกิดขึ้นในน้ำมันทอดซ้ำ 

จากการศึกษาพบว่า มีกลุ่มสารก่อมะเร็งเกิดขึ้นในน้ำมันทอดซ้ำ ได้แก่ Cyclic fatty acids, Aldehydic triglycerides, Triglyceride hydroperoxides, Aldehydes, Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังของหนูทดลอง มีการเจริญเติบโตผิดปกติ ลำไส้ทำงานผิดปกติ ตับและไต โต โลหิตจาง วิตามินอีในเลือดและตับของหนูทดลองลดลง, สาร 4-hydroxy-2-noenol (HNE) มีพิษต่อเซลล์ทั้งก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ได้เช่นกัน

 เอาเรื่องนี้ขึ้นต้นก่อนไม่ได้ตั้งใจให้ตื่นกลัว แต่ตั้งใจที่จะให้มีความระมัดระวังในการบริโภค ไม่ประมาท แม้ว่าผลการทดลองจะทำในสัตว์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าในคนจะปลอดภัย 100 %  (เพราะไม่สามารถใช้คนเป็นหนูทดลอง)  รู้ไว้เพื่อเตือนรุ่นลูกหลานที่ชอบทานของทอดมากโดยเฉพาะ พวก  junk food หรือ fast food แพงๆ

   ต้องสังเกตุสีของน้ำมัน ฟองที่เกิดมากระหว่างทอด


ปัจจัยที่เร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันทอดอาหาร 
จากการที่พบว่าสารประกอบที่เกิดจากการเสื่อมสภาพในน้ำมันทอดอาหารมีผลต่อการกลายพันธุ์ของเซลล์ เรามาดูกันว่าการเสื่อมสภาพในน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารเป็นผลจากอะไรบ้าง

  • การผ่านความร้อนสูง เช่นวิธีการทอด พบว่าการทอดแบบทอดท่วม มีผลไปเร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันได้เร็วขึ้น ทำให้น้ำมันเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและเคมี และก่อให้เกิดสารอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค
  • ปริมาณและชนิดของกรดไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมัน
  • อุณหภูมิของน้ำมัน
  • ระยะเวลาในการทอด
  • ปริมาณน้ำและความชื้นในอาหาร
  • เครื่องปรุงรสต่างๆที่เติม เช่น เกลือ
  • ปริมาณออกซิเจนที่สัมผัสน้ำมันระหว่างการทอด
  • ปริมาณอาหารที่ลงกระทะต่อครั้ง
  • จำนวนครั้งของการทอดอาหาร และ
  • ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในน้ำมันและอาหาร

ปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ และ สารโพล่าร์

สารโพลาร์คืออะไร
สารโพลาร์ เป็นสารประกอบมีประจุที่เกิดขึ้นระหว่างการทอดอาหาร
ปฎิกิริยาระหว่างอาหารกับสิ่งต่างๆที่เกิดจากการทอด ทำให้ลักษณะทางกายภาพและทางเคมีของน้ำมันเปลี่ยนไป มีสารประกอบใหม่เกิดขึ้นมากมาย เป็นทั้งสารโพลาร์และสารนอนโพลาร์ เช่น กรดไขมันอิสระ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ อัลคาไลด์ คีโตน ไดเมอร์ ไตรเมอร์ และโพลิเมอร์ สารเหล่านี้มีโมเลกุลขนาดต่างๆ กัน บางชนิดมีโมเลกุลขนาดใหญ่ ร่างกายไม่ดูดซึมและขับทิ้งออกได้ แต่สารบางชนิดมีโมเลกุลขนาดเล็ก อาจดูดซึมและสะสมในร่างกายได้

 น้ำมันถุงที่อาจไม่ปลอดภัย

  • น้ำมันใหม่ จะมีไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) ประกอบอยู่ 96 - 98%    ส่วนที่เหลือคือ สารโพล่าร์ทั้งหมด (total polar material; TPM)
  • ในระหว่างการทอดอาหาร น้ำมันจะเสื่อมสภาพ โดยที่ triglycerides จะสลายตัว และTPM ก็จะเพิ่มขึ้น
  • การวัดค่า TPM ก็คือการวัดการเสื่อมสภาพของน้ำมันนั่นเอง
ดังนั้นการควบคุมความปลอดภัยจากการใช้น้ำมันทอดซ้ำจึงมีการกำหนดใช้ค่านี้เป็นตัววัด ด้วยประการละฉะนี้แล ..

Monday, 8 August 2011

เตือนอันตราย..เมื่อน้ำมันพืชแพง 1

เตือนอันตราย..เมื่อน้ำมันพืชแพง 1

                                                                                
เมื่อของแพงขึ้น ผู้ผลิต ผู้ขาย ที่ไม่มีมนุษยธรรม ติดแต่แสวงหากำไรอย่างเดียว ก็มักจะมีวิธีการต่างๆที่จะลดต้นทุน แม้ว่ามันจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก็ตาม เราก็คงต้องระมัดระวังศึกษาข้อมูลแล้วก็เตือนต่อๆกัน ก็จะช่วยสังคมได้   
 by.. meepole



 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้แวะไปซื้อน้ำมันประกอบอาหาร ด้วยความใจเย็น ทั้งๆที่มีข่าวน้ำมันปาล์มขาดตลาดก็ไม่ได้รีบซื้อ เพราะว่าปกติไม่ได้ใช้น้ำมันปาล์ม จะใช้น้ำมันข้าวโพดและน้ำมันมันมะกอกเป็นหลัก คิดว่าสองอย่างนี้คงไม่ขาดตลาดแน่ ปรากฎว่างานนี้คิดถูกครึ่งเดียวคือยังคงมีน้ำมันมะกอก แต่ไม่มีน้ำมันข้าวโพด และที่แปลกใจมากคือไม่มีน้ำมันปาล์มถั่วเหลือง และทานตะวัน อยู่เลยแม้แต่ขวดเดียว เห็นน้ำมันรำข้าวประมาณไม่เกิน 10 ขวด ราคาขวดละ 84 บาท
ขณะยืนมองด้วยความทึ่งเพราะทราบข่าวมาก่อนนี้ว่าจะมีการเอาน้ำมันปาล์มจุกสีชมพูมาวางขายแล้ว แต่ก็ไม่ทันเห็นจนได้ ได้ยินเสียงคนที่เดินมาเพื่อซื้อน้ำมันก็อุทานเหมือนๆกันคือ "น้ำมันหมดหิ้งเลย" แล้วก็เดินผ่านไป เพราะจะให้ซื้อน้ำมันที่ขวดละเกือบร้อย และเกินร้อย สำหรับครอบครัวใหญ่คงไม่ไหว วันนั้นเลยได้น้ำมันมะกอกมาไว้ 2 ขวด ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ออกไปตลาดเพื่อดูว่ามีน้ำมันวางขายปกติหรือยัง
ภาพจาก business-standard.com


เรื่องของเรื่องที่มาเขียนนี่ก็เพราะ เมื่อสองวันที่แล้วเพื่อนอาจารย์แวะซื้อกล้วยทอดถุงใหญ่มานั่งทานกันช่วงเที่ยง พอเทใส่จานมาวาง meepole สังเกตเห็นว่ากล้วยทอดเปียกแวว เหมือนอมน้ำมันมาก ยังไม่ทันพูดอะไรเขาก็หยิบกินกัน ก็เลยถามว่า ไม่รู้สึกว่าน้ำมันมากไปหน่อยหรือไง
 เสียงตอบจากหลายคน "กลัวอ้วนเหรอพี่"
บอก "เปล่า กลัวน้ำมันเก่ามาทอด"
"ไม่เก่าหรอก ยืนดูเห็นน้ำมันไม่ดำนะ ยังเหลืองๆเลย"
งั้นพูดใหม่ "กลัวเขาเอาน้ำมันถุงฟอกสีแล้วมาใช้"
ทุกคนทานต่อ ยกเว้น meepole  บ่ายแยกย้ายกันไป
เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นจากครูชอบเถียง...
"พี่ๆ หิวน้ำบ่อยมาก อืดๆด้วย สงสัยกล้วยทอดแน่เลย"
"อ้าวทำไมสงสัยล่ะ ไม่ออกอาการเร็วขนาดนั้นหรอก"
"ไช่แน่พี่ เพราะหนูทานมากสุดเลย เหลือท้ายสุดหลายชิ้น หนูทานคนเดียวหมดเลย (มิน่าล่ะอ้วนกว่าเพื่อนเลย) ทำไงดีคะ"
 ตอนติงไม่เชื่อ ตอนรู้สึกไม่ค่อยดี แล้วขอให้ช่วยทุกที ..บ่น แต่ก็บอกวิธีแก้ให้ไป ก็คงดีขึ้นไม่งั้นรายนี้โทรซ้ำแน่
ก็เลยคิดๆว่าก็น่าจะลองเขียนเตือนๆ บอกต่อ เผื่อใครหลายๆคนที่อาจคิดไม่ถึง ถ้าคิดเลยไปแล้วไม่เป็นไร.. ดีค่ะ :)  :)

           เรื่องที่เกิด
 น้ำมันปาล์มขาดแคลน -น้ำมันถั่วเหลืองขอขึ้นราคาอีก อ้างเมล็ดถั่วราคาพุ่ง
ผลก็คือ น้ำมันพืชในท้องตลาด หลายยี่ห้อไม่มีวางบนหิ้ง เพราะขายดีมาก หมดในเวลาอันรวดเร็วมีการปรับราคาสูงขึ้นทุกรายการ แถมหลายๆยี่ห้อจำกัดปริมาณการซื้อ
 ข้อดีของการที่น้ำมันแพงก็มี คือ น้ำมันปาล์มโอเลอิน จะประกอบไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัว ผสมอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูง ดังนั้นเมื่อแพงก็ช่วยลดการทานน้ำมันลง เลยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ 
 ปัญหา 
เมื่อของแพงขึ้น ผู้ผลิต ผู้ขาย ที่ไม่มีมนุษยธรรม ติดแต่แสวงหากำไรอย่างเดียว ก็มักจะมีวิธีการต่างๆที่จะลดต้นทุน แม้ว่ามันจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก็ตาม เราก็คงต้องระมัดระวังศึกษาข้อมูลแล้วก็เตือนต่อๆกัน ก็จะช่วยสังคมได้
แม่ค้าที่ต้องใช้น้ำมันพืชปรุงอาหารจำพวกทอด อาจมีการนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาใช้อีกและที่นำมาผัดอาหารก็อาจจะใช้น้ำมันเก่าที่ผ่านการนำไปทำให้ใสโดยการฟอกสี โดยแม่ค้าเองก็อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
 อันนี้เราเองในฐานะผู้บริโภคก็ไม่อาจทราบได้ว่าน้ำมันที่เขาใช้ผัด หรือประกอบอาหารนั้นเป็นประเภทใด นอกจากถามแล้วอาจได้ความจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดังนั้นช่วงนี้หากปรุงอาหารเองได้ก็น่าจะทำเอง แต่ถ้าไม่ได้ก็คงต้องเลือกร้าน และสังเกตุราคา หรือไม่ก็เลี่ยงอาหารที่ต้องปรุงด้วยน้ำมันมาก หรือของทอด

รู้ได้อย่างไรว่าน้ำมันนั้นอันตราย ไม่ควรนำมาบริโภค

หากเราไปซื้อน้ำมันที่ขายเป็นถุงมา หรือแม้กระทั่งน้ำมันที่เราจะใช้ซ้ำในครัวของบ้านเราเอง คงต้องรู้จักสังเกต ว่าเวลาใช้ หรือบริโภค ว่ามีลักษณะต่อไปนี้หรือไม่
 น้ำมันมีกลิ่นเหม็นหืน ใช้สักครู่มีฟองมาก (กรณีทอดอาหาร) เหม็นไหม้ เวลาทอดมีควันขึ้นมาก อันนี้แสดงว่าน้ำมันนั้นถูกใช้มานาน หรือใช้มาหลายครั้ง หรือใช้ทอดมากจนเกินจุดแล้ว ทำให้น้ำมันเกิดควันที่อุณหภูมิต่ำลง
 อาหารที่ทอดเสร็จแล้วอมน้ำมันมาก (เหมือนข้างต้นที่ได้เตือนไป) และหลังการบริโภคเกิดการระคายคอ หิวน้ำมาก

หากไปซื้อของทอดเช่น ปาท่องโก๋ เต้าหู้ ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ทอดมัน ข้าวเกรียบ และ กล้วย/มัน/เผือกทอด อาหารทอดอื่นๆ ก็ควรสังเกตสีของน้ำมัน ความหนืดของน้ำมัน
และถ้าเราไม่เห็นเพราะคนซื้อมาฝาก ก็ควรสังเกตสี  ความมันแบบเปียกๆ และรสชาติ ของอาหารด้วย ถ้าสีเข้ม (ไม่ไช่เกรียม) รสขมๆ ทานแล้วสักครู่รู้สึกเหมือนมีน้ำมันติดในคอ เพดานปากตลอด แสดงว่าต่อไปควรระมัดระวังร้านนั้นหน่อย
อ้อ! แล้วควรหยุดทานของนั้นเลย อย่าไปเสียดาย ค่าขนม 20  ค่ายาเกิน 100
อันนี้ meepole เคยลองทานข้าวเกรียบทางใต้ที่ทอดขายสำเร็จใส่ถุงพร้อมน้ำจิ้ม ทานได้คำเดียวต้องหยุด เพราะหืนน้ำมันแล้วขม แต่เพื่อนที่ซื้อเขาไม่รู้สึก อันนี้ต้องฝึกระบบประสาทการรับรู้ให้ไวหน่อย หัดสังเกตุรส และดมกลิ่นให้ดี

หากน้ำมันมีลักษณะหนืดๆ ทอดสักครู่แล้วเกิดฟองเดือด และเกิดควันดำ สัญญาณเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำมัน มีอันตรายมาก ๆ โดยเฉพาะหากมีการเติมน้ำมันใหม่เข้าไปจะยิ่งเป็นผลร้าย ซึ่งอันนี้แม่ค้ามักนิยมทำ โดยพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ทราบถึงอันตราย


ภาพจาก women.sanook.com


 ผลต่อสุขภาพทั้งครอบครัว
 ขณะที่ในบ้านบางครั้งเราใช้น้ำมันทอดของแล้วยังเสียดายเทรวมเก็บไว้ใช้ครั้งต่อไปและต่อไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่นะคะ เพราะ
การบริโภคอาหารจากน้ำมันทอดซ้ำไม่เพียงแต่จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง ความดันโลหิต หลอดเลือดหัวใจเฉพาะผู้ทานเท่านั้น..
แต่ยังมีอันตรายที่ต้องสูดดมไอน้ำมันทอดซ้ำด้วยเช่นกัน โดยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่งจากการตรวจสุขภาพแม่บ้านซึ่งปรุงอาหาร พบว่า เป็นมะเร็งปอดสูงมาก และมีการสืบสาเหตุพบว่า มีการปรุงอาหารที่ใช้น้ำมันมาก โดยไม่มีประวัติว่ามีการสูบบุหรี่แต่อย่างใด
  ล่าสุดประเทศไต้หวันได้ออกกฎหมายไม่ให้ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้ปรุงอาหารจากอันตรายของไอของน้ำมันทอดซ้ำ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2551)
และแน่นอนของไทยเรายังไม่มีการขยับในเรื่องนี้ ได้แต่ออกมาเตือนตามกระแส แล้วก็เงียบ คงต้องเป็นชาวเรา และคุณครู อาจารย์ ทั้งหลายที่ต้องช่วยกันบอกต่อและสอนเด็กให้เขาไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง
ข้อเตือนอันตราย         
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนประชาชนว่า อย่าซื้อน้ำมันที่ใส่ถุงพลาสติก ที่ไม่บอกที่มา เพราะอาจเป็นน้ำมันเก่าเสื่อมสภาพที่นำไปฟอกสีให้ใสแล้วนำกลับมาหลอกขายอีกครั้ง ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีบางชนิดที่เติมเข้าไปในน้ำมันแล้วทำให้ค่าโพลาร์อยู่ในระดับต่ำเป็นวงจรที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ
และเตือนประชาชนให้สังเกตน้ำมันในตลาดด้วยว่า หากน้ำมันมีลักษณะหนืด ทอดแล้วเกิดฟองเดือดและเกิดควันดำ สัญญาณเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำมันมีค่าโพลาร์สูงถึงระดับ 40 จะเป็นอันตรายมาก ๆ

 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่เข้าใจ เตือนแบบนี้ประชาชนที่กล่าวถึง ชาวบ้าน แม่ค้ากี่คน ที่จะรู้ว่าค่าโพลาร์คืออะไร แล้วมันเกี่ยวข้องกับอะไร อันตรายต่อสุขภาพอย่างไร

ติดตามตอนที่ 2 นะคะ  :)  :)

Thursday, 4 August 2011

ผักอนามัย ผักปลอดภัย ผักไฮโดรโพนิกส์ เป็นผักปลอดสารพิษ จริงหรือ ?

ผักอนามัย ผักปลอดภัย ผักไฮโดรโพนิกส์ เป็นผักปลอดสารพิษ จริงหรือ ??



เราเข้าใจคำว่า ผักอนามัยและผักปลอดภัย เพียงใด?? เวลาเขาขายผักไฮโดรโพนิกส์ เขามักจะบอกว่า ผักปลอดสารพิษ ท่านเชื่ออย่างนั้นหรือไม่ ??

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแม่บ้านเพื่อนเก่า โทรมาคุยตามประสาคนแก่ ว่าแล้วก็ถามเรื่องผักปลอดภัย เพราะเธอไปเดินตลาดถนนคนเดิน ที่มีทุกสัปดาห์ แต่ meepole ยังไม่เคยไปเดินเลย  คำถามของเธอคือ เธอซื้อผักไฮโดรโพนิกส์ โดยเขาเขียนว่า ผักปลอดสารพิษ  เธออยากรู้เพียงว่า จริงหรือไม่ ?

อ่านดูแล้วลองคิดว่าเราเข้าใจตรงกันหรือเปล่า

ผักอนามัยและผักปลอดภัยนั้นคล้ายๆ กันตรงที่ว่าใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดวัชพืช โรคและแมลง หรือฮอร์โมนสังเคราะห์ได้ทุกอย่างเลยค่ะ เพียงแต่ผลผลิตที่ได้จะมีสารพิษตกค้างก็ได้ แต่ว่าไม่เกินมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรหรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเท่านั้นเอง

ตอนนี้ใครๆก็คงรู้จักการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์กันแล้วว่ามีวิธีการอย่างไร ก็คงไม่ต้องเขียนถึงอีก ดังนั้นจากการที่รู้วิธีปลูกก็จะทำให้ทราบว่า ผักไฮโดรโพนิกส์ก็ไม่ได้ปลอดสารเคมีเพราะที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันใช้สารเคมี คือใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 100 % ซึ่งมีสูตรการใส่ปุ๋ยอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติของการปลูกพืช แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกผักว่าจะให้ปุ๋ย ฮอร์โมนมากเกินไปเพื่อเร่งการเจริญเติบโต หรือไม่เพียงใดเท่านั้น

ที่ควรจะกังวลมากกว่าควรเป็นเรื่องของสารพิษที่มีในผักไฮโดรโพนิกส์ซึ่งจะได้จาก การฉีดพ่นยากำจัดหนอน แมลง ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าแหล่งผลิตใดจะซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และผู้บริโภค

ถุงบรรจุผัก ฉลากผัก ไม่ว่าผักดิน หรือผักไฮโดรโพนิกส์ ก็มักจะพิมพ์คำว่า ผักปลอดสารพิษ ทั้งนั้น เพราะเป็นจุดอ่อนของผู้ซื้อที่เห็นแล้วก็สบายใจ ยินดีจ่ายแม้ว่าจะแพงขึ้นเล็กน้อย

ฉะนั้นผักจะปลอดสารพิษหรือไม่ ขึ้นกับคุณธรรมของผู้ผลิตเป็นสำคัญ เราผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวัง อย่าไว้ใจมากนัก ควรมีวิธีการล้างผักที่ถูกต้องก่อนกิน แช่น้ำก่อนนำมาปรุงนานๆ เพื่อให้ลดสารพิษที่ตกค้างหรือสารเคมีที่มีมากเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น ชีวิตจะได้ปลอดภัยจากสารพิษจริงๆ ให้คุ้มค่ากับที่อุตส่าห์จ่ายเงินเลือกซื้อผักปลอดภัยทั้งที ก็ขอให้ปลอดภัยจริงๆ