Sunday, 30 October 2011

น้ำท่วม :อาหารไม่บูดทำอย่างไร


วันนี้ดูข่าวช่อง 3 ที่ร่วมกับนายตัน ที่คิดว่าเขาตั้งใจดี มีจุดประสงค์ดี แต่อาจไม่น่าจะเกิดผลเท่าใดนัก คือการเอาอาหารกล่อง อาหารสดที่ปรุงเสร็จที่คนมาบริจาค ใส่ตู้แช่แข็งที่ -5 C เพื่อให้อาหารเสียช้า เพราะที่ผ่านมาอาหารมักจะเสีย บูดเมื่อถึงมือผู้บริโภค เป็นความตั้งใจดี แต่อยากให้เขาทดลองเอาอาหาร (ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ฯ) ที่แช่แข็งแล้วนั้นออกมาตั้งให้คลายเย็นว่า ใช้เวลาเท่าใดจึงคลายเย็นหมด และเมื่อคลายแล้วหากไม่มีไฟฟ้า หรือแก๊สหุงต้มสำหรับอุ่นแล้ว อาหารเหล่านั้นทานได้ปกติหรือไม่ ขอให้สังเกตเม็ดข้าวดูให้ดี เพราะ meepole เคยทดลองมาแล้ว เคยทำมาแล้วตอนเรียนที่ตปท. (วิธีแช่แข็งจะเหมาะสำหรับการเก็บไว้นานๆ) อยากให้มีการบอกเสนอไปยังช่อง 3 ก่อนที่จะทำมากกว่านี้ หากเป็นการส่งไปที่ๆมีไฟฟ้าใช้ก็ย่อมได้ เพราะเข้า microwave หรืออุ่นได้

จริงๆวิธีการถนอมอาหารให้ยาวเป็นวันโดยไม่บูดก็มีวิธีต่างๆ meepole ขอเสนอความคิดดังนี้
(ทุกข้อมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น)
  • หุงข้าวสวยใส่น้ำส้มสายชูลงไปเล็กน้อย (ไม่ให้เปรี้ยวนะ) ข้าวจะบูดช้า
  • หุงข้าวให้ค่อนข้างแห้งไม่แฉะหรือเปียกมาก
  • อย่าพยายามใช้ข้าวที่เคลือบสมุนไพรต่างๆ โดยเฉพาะ อัญชัญ ฯ
  • ตักข้าวใส่กล่องโฟมหรือถุงพลาสติกตอนอาหารเย็นลงแล้ว (ปิดคลุมภาชนะระหว่างรอ) เพื่อลดไอน้ำในกล่องหรือถุงลง
  • กับข้าวที่ปรุงให้พยายามใส่เครื่องเทศ เช่นกระเพรา โหระพา ขมิ้น พริกไทย แต่ต้องผัดให้สุก เน้นต้องให้สุก ผัดผักทุกอย่างต้องสุก อย่าแบบครึ่งสุกครึ่งดิบ หรือไม่ก็ไม่ใส่ผัก โดยเฉพาะเห็ดไม่ควรใส่
  • ไม่มีกะทิ ทุกอย่าง (แกง ต้ม ผัด) ในงานนี้
  • ข้าวผัดก็อย่าผัดแฉะ ผักทุกอย่างที่ใส่ต้องผัดให้สุก
  • หากเป็นข้าวหมูแดงไม่ต้องหั่นหมูเป็นชิ้นๆ ให้หั่นชิ้นใหญ่ชิ้นเดียวเท่าที่จะให้ เพื่อลดการ contaminate ลง แตงไม่ต้องใส่
  • ช่วงนี้หากทำเนื้อสัตว์ผัดเค็มแห้งๆใส่พริกไทย เนื้อสัตว์ผักเกลือ ซี่อิ้วดีที่สุด (อย่าให้แฉะมาก) แยกใส่ถุงต่างหาก (อย่าราดหน้า) อะไรให้ข้าวแฉะ
  • ช่วงนี้ผักสดไม่ต้องแนบไป ภาวะเช่นนี้ไม่ต้องครบเครื่องเอาแบบที่ได้ทานดีกว่า
ใครเข้ามาอ่านแล้วมีช่องทางบอกต่อช่วยบอกต่อด้วย เพราะ meepole ไม่ได้ใช้ facebook เจ้าค่ะ เสนอความคิดอื่นๆที่จะช่วยกันได้ยิ่งดี สาธุ

Friday, 28 October 2011

น้ำท่วม : ด่างทับทิมใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

by meepole

ด่างทับทิม ( Potassium permanganate )

เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผลึกเล็กๆ สีม่วงเข้ม แววเงา ไม่มีกลิ่น เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายสีม่วงหรือสีชมพูอมม่วง

ชาวบ้านทั่วไปมักจะรู้จักประโยชน์ของด่างทับทิมในแง่การฆ่าเชื้อ ดังนั้นแม่บ้านเลยนิยมนำมาแช่ผัก ผลไม้  คนเลี้ยงปลาไม่ว่าปลาตู้ ปลาบ่อ ก็นำมาใช้เช่นกัน

ปัญหาคือเรามักจะคิดว่าเมื่อใช้ด่างทับทิม แช่ผัก ผลไม้ได้ แสดงว่าสารนี้น่าจะปลอดภัย คงกินได้ไม่อันตรายนัก

แต่จริงๆไม่ไช่เช่นนั้น คนไทยมักจะใช้สิ่งต่างๆตามคำบอกต่อๆ โดยไม่ลงลึกทำความเข้าใจก่อนใช้ ทำให้เกิดอันตรายหลายต่อหลายเหตุการณ์โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จริงๆแล้วความจริงข้อหนึ่งที่ทุกคนต้องจำให้ได้ขึ้นใจในการใช้สารทุกประเภทคือ
สารทุกชนิดเป็นสารพิษ ไม่มีสารใดเลยที่ไม่มีพิษ  ปริมาณที่รับเข้าสู่ร่างกายเป็นสิ่งที่แยกว่าสารที่เข้าสู่ร่างกายนั้นเป็นพิษหรือเป็นประโยชน์ " นี่เป็นคำกล่าวของ พาราเซลซัส บิดาแห่งสาขาวิชาพิษวิทยา เมื่อ meepole สอนวิชาพิษวิทยา คำกล่าวนี้จะเป็นตัวเริ่มของการสอนเลย

จากคำกล่าวนี้เป็นความจริงที่ว่า ไม่มีสารใดที่ไม่เป็นพิษ แสดงว่าด่างทับทิมก็หนีไม่พ้น เพียงแต่ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเท่านั้นจะทำให้ปลอดภัย

ประโยชน์ด่างทับทิม

ใช้เป็นสารฟอกขาว เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ผสมลงในน้ำเพื่อใช้ฆ่าเชื้อ กระทั่งใช้แก้พิษ เป็นต้น

ในกรณีที่เร่งด่วนน้ำท่วมไม่มีน้ำสะอาดใช้เช่นนี้ meepole จึงเขียนเพียงย่นย่อก่อน (ค่อยแอบมาเติมเพิ่มวันหน้า) ให้ช่วยกันเอาไป บอกต่อ ก่อบุญ  ให้เข้าใจการใช้ด่างทับทิมอย่างปลอดภัยและเกิดโทษน้อยที่สุด ขอยกกรณีที่แม่บ้านถามมาในรายการโทรทัศน์ก่อนว่า จะใช้ด่างทับทิมฆ่าเชื้อได้หรือไม่  และปริมาณที่ใช้รู้ได้อย่างไร

การนำด่างทับทิมมาใช้ในจุดประสงค์ฆ่าเชื้อโรคในน้ำใช้ ไม่ใช้ใส่น้ำแล้วนำมาดื่ม

ฆ่าเชื้อโรคได้จริงหรือ

จริงค่ะ  แต่ก็ไม่ทุกชนิด สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ตลอดจนสาหร่าย ได้บางชนิด แต่ทั้งนี้ขึ้นกับความเข้มข้น และระยะเวลาที่ใช้ หากเข้มข้นเกินไปก็เป็นอันตรายต่อเรา

ใช้ปริมาณเท่าใดจึงไม่อันตราย

เนื่องจากเราชาวบ้านไม่สามารถที่จะมีเครื่องมือในการ ชั่ง ตวง วัด ได้ดังนั้นจึงขอให้ใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือดูจากสี ซึ่งเป็นการประมาณที่ไกล้เคียง ถ้าจะใช้ฆ่าเชื้อในน้ำใช้ ให้ค่อยๆใส่แล้วคนให้ละลายหมดก่อน สังเกตสี สีที่สามารถนำมาใช้ในระดับปลอดภัยเป็นสีชมพูอ่อนหรือม่วงอ่อน (ดูสีเทียบจากภาพ)

สีชมพูใส หลอดที่สองจากขวาไปซ้าย  หลอดกลางเริ่มเข้ม  ขวาสุดเข้มมากไป อันตรายต่อผิวหนังแล้ว

หากเป็นสีชมพูใส ก็ประมาณได้ว่าความเข้มข้นจะประมาณ 1 ส่วนในล้านส่วน และหากสารละลายเป็นสีม่วงแล้วก็ประมาณได้ว่าความเข้มข้นจะประมาณ 1 ส่วนใน 76,000 (65 mg/4.5 l) ซึ่งเริ่มเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้แล้ว

หากใช้ด่างทับทิมเพื่อฆ๋าเชื้อในน้ำล่ะก็ ต้องทิ้งไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง จึงจะนำน้ำนั้นไปใช้

นอกจากนี้ด่างทับทิม (เข้มข้น 1-4%) สามารถใช้กำจัดเหล็ก และแมกนีเซียมที่เจือปนมาในน้ำ  เราจะพบปริมาณแมกนีเซียมมากในอุจจาระ ดังนั้นการใช้มีการใช้ด่างทับทิม จะช่วยฆ่าแบคทีเรีย รา ไวรัส และสาหร่าย ด้วยความเข้มข้นขนาดนี้สามารถกำจัดกลิ่นดินกลิ่นสาบของน้ำ ได้ด้วย

ข้อควรระวังในการใช้ด่างทับทิม

ด้วยคุณสมบัติที่เป็นสารที่เกิดปฎิกิริยารุนแรง กระทั่งสามารถลุกไหม้ได้เมื่อถูกกับสารละลายบางชนิด ดังนั้นควรระมัดระวังในการเก็บ วางให้พ้นมือเด็กด้วย

เนื่องจากเป็นสารที่สามารถเกิดปฎิกิริยารุนแรงกับสารบางชนิดได้  ดังนั้นการใช้สารนี้จึงควรระมัดระวังไม่ให้สัมผัสผิวหนังโดยตรง (ไม่เอามือหยิบผลึก) เพราะจะทำให้ผิวแห้งเป็นขุย ถ้าสารละลายเข้มข้นจะทำให้เป็นผื่นแดง ปวด หรือเป็นแผลไหม้ หรือเป็นจุดด่างสีน้ำตาล ระวังการปลิวเข้าตาเพราะผลึกเบาจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดหรือตาบอดได้  การหายใจเข้าไปก็ทำให้ระคายเคือง ไอ หายใจถี่ขึ้น

กลืนกินเข้าไปอันตรายหรือไม่ อย่างไร

การกลืนกินด่างทับทิมเข้าไปก็อันตรายไม่ว่าในสภาพของแข็ง หรือของเหลวที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้กระเพาะเป็นแผลไหม้รุนแรง บวมน้ำ ความดันเลือดต่ำถึงตายได้
พบว่าที่ความเข้มข้นเพียง 1% ทำให้ลำคอไหม้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
ความเข้มข้น 2-3% ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง คอบวม หายใจไม่ออก

แม้ว่าด่างทับทิมจะมีประโยชน์มากมาย แต่หากใช้ได้ไม่ถูกต้องอาจทำ ให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษต่อร่างกายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นผู้ใช้จะต้องใช้อย่างเข้าใจ และระมัดระวัง ผลข้างเคียงจากการใช้ด่างทับทิม


ตอนหน้าจะเขียนเรื่องการใช้ด่างทับทิมในการล้างผักสด ผลไม้ ตลอดจนการใช้เป็นสารแก้พิษ และอื่นๆ

อ้างอิง:
http://www.fda.moph.go.th/
http://www.oxidationsystems.com/products/permanganate.html

Wednesday, 26 October 2011

น้ำท่วม :อันตราย อย่าเข้าใจผิด อุทัยทิพย์ ไม่ใช่ด่างทับทิม

by meepole
ผลึกด่างทับทิม

meepole ขอออกตัวก่อนว่าที่เขียนต่อไปนี้ไม่ได้ต้องการ discredit ใคร ไม่ได้จับผิด หรือ..แต่ประการใด แต่ช่วงนี้ติดตามข่าวความเดือดร้อนของคนร่วมชาติด้วยความห่วงใยและไม่สบายใจเช่นกัน  อยู่ไกลช่วยอะไรไม่ได้มากนอกจากให้กำลังใจและติดตามศึกษาเรื่องราวต่างๆเก็บเป็นประสบการณ์ไว้หากจะมีภัยเช่นนี้เกิดอีกในถิ่นที่อยู่จะได้ ช่วยผู้อื่นได้ ดังนั้นไม่ว่าโทรทัศน์ช่องใด ใครเชิญใครมาให้ความรู้ก็จะดูและฟังเรียนร่วมรู้ไปด้วย และเชื่อว่ามีคนส่วนมากก็ติดตามเรียนรู้เช่นกัน  ดังนั้นการเสนอหรือแนะอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นดาบสองคมที่อันตรายมากเพราะในตอนนี้ ที่คนกำลังตื่นกลัว กังวล บอกอะไรเขาก็ทำตามหมด

เมื่อเช้านี้ได้ดูข่าวของ TV ช่อง PBS ที่มีการเชิญหลายๆคนที่มีประสบการณ์ด้านต่างๆออกมาให้ความรู้ เป็นรายการที่ดี ที่ meepole ได้โอกาสเรียนรู้หลายๆเรื่องมาแล้วเช่น คุณบิณฑ์ มาพูดเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องคนถูกไฟฟ้าดูด จะลดประจุก่อนทำอย่างไร  และมีเรื่องการทดสอบไฟรั่ว การประดิษฐ์ของใช้ต่างๆสำหรับชีวิตมากมาย โภชนาการในยามนี้ที่ไม่มีไฟฟ้า หรือยามที่ต้องเก็บอาหารให้กินได้นานๆ ก็เก็บสาระไว้

แต่เช้านี้มีการเชิญรองคณบดี (ดร.)ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มาพูดเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้(ไม่ได้ตามตอนต้น) แต่ช่วงที่เปิดพบว่ากำลังพูดเรื่องชุดของที่จะแจกให้ชาวบ้านใช้จัดการกับน้ำดื่ม น้ำใช้ ที่ไม่สะอาดในช่วงนี้ และในชุดนั้นก็มีสารส้ม ที่จะช่วยตกตะกอนสิ่งที่แขวนลอยในน้ำ  พร้อมกับสาธิตใช้ชุดที่มีขวดของเหลวที่เรียกชื่อว่าหยดทิพย์ ซึ่งเป็นสารละลายคลอรีน 2 % ที่ใช้หยดลงไปในน้ำ เพื่อฆ่าเชื้อ ก็บอกให้ใช้ 2 หยด มีหลายอย่างที่พูดแปลกๆ แม้จะไม่ถูกต้องบ้างก็ไม่ serious ฟังไปเรื่อยๆแล้วก็บอกคนที่บ้าน meepole ว่าตรงนี้ไม่ไช่ ตรงนี้ไม่ถูก ที่ถูกเป็นอย่างไร กลัวเข้าใจผิด พอดีมีแม่บ้านโทรเข้าในรายการ ถามเรื่องด่างทับทิม ที่เขามีอยู่ว่าจะใช้ฆ่าเชื้อได้ไหม ใช้อย่างไร  ใช้แค่ไหนจึงพอ เพราะเธอไม่มีคลอรีน  อาจารย์ท่านนี้อธิบายว่าใส่  2 หยด เธอก็บอกว่าด่างทับทิมเธอเป็นผง (จริงๆเป็นผลึก) ดร.ท่านนี้บอกว่าให้เอาไปละลายน้ำก่อนใช้ แล้วเก็บไว้ เวลาใช้ก็บีบใส่ 2 หยด  (ตรงนี้ไม่ถูกนักค่ะ)  และมาถึงตรงนี้พิธีกรถามว่าแล้วใช้น้ำยาอุทัยที่เป็นสีชมพูแบบนั้นจะเหมือนกันไหม ได้ไหม  ตอนนี้ดร.ท่านนี้บอกว่าเหมือนกัน หรือว่าไช่ ?? และจากนั้นพิธีกรถามในลักษณะที่มีคำตอบที่ทำให้เข้าใจว่าน้ำยาอุทัยกับเจ้าด่างทับทิมที่ละลายน้ำแล้วเป็นสีชมพูนั้นมีผลฆ่าเชื้อใช้แทนได้ และฟังต่ออาจเข้าใจผิดคิดต่อได้ว่ามันคือส่วนผสมที่คล้ายกัน (หากใครสามารถ replay เทปนี้ให้ลองเปิดดูและฟังใหม่)  ตรงนี้ ทำให้ meepole รู้สึก serious เพราะความเข้าใจผิดตรงนี้ มีผลต่อสุขภาพและถึงแก่ชีวิตได้

จึงต้องเขียนหัวข้อนี้ขึ้นมาเพื่อใครที่ได้ฟัง และเข้าใจผิดจะได้เข้าใจใหม่และอยากให้บอกต่อๆให้เข้าใจด้วย ว่าด่างทับทิม ไม่ใช่น้ำยาอุทัยทิพย์ และน้ำยาอุทัยทิพย์ไม่มีส่วนผสมของด่างทับทิม แม้ว่าจะมีสีชมพูอมม่วงเมื่อใส่ในน้ำ และวัตถุประสงค์การใส่ และคุณสมบัติของ2 สิ่งนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง   เรื่องน้ำยาอุทัยทิพย์ meepole ได้ค้นมาให้ไว้ดังนี้

"อุทัยทิพย์" เป็นสมุนไพรไทยที่สกัดจากพฤกษาธรรมชาติ 32 ชนิด อันได้แก่ ฝาง, ดอกคำฝอย, หญ้าฝรั่น, มะลิ, พิกุล, บุนนาค, บัวหลวง เป็นต้น ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่สร้างไว้จากอดีต...สู่ปัจจุบัน สีของอุทัยทิพย์ที่มีสีแดงสกัดมาจากสีของไม้ฝางซึ่งเป็นสีที่มาจากธรรมชาติ แล้วยังมีสรรพคุณในการบำรุงเลือด บำรุงหัวใจอีกด้วย.
http://www.utaitip.com/history-th.html

ด่างทับทิม หรือ หรือโปแตสเซียมเปอร์มังกาเนต (POTASSIUM PERMANGANATE : KMnO4)
จัดเป็นสารอันตรายตัวหนึ่ง มีลักษณะเป็นเกล็ดหรือผลึกแข็ง สีม่วง สามารถละลายได้ในน้ำ ให้สีชมพูหรือม่วงเข้ม ขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้น มีการนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่น ใช้เป็นสารฟอกขาวเส้นใยสิ่งทอ ใช้ย้อมสีไม้และผ้า และใช้ เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยผสมลงในน้ำเพื่อใช้ฆ่า เชื้อ และมีนำมาใช้ในครัวเรือนโดยนำมาใช้ในการล้างผัก ผลไม้

แต่การใช้ต้องระวังอย่าให้เข้าตา (อาจระคายเคืองรุนแรงหรือบอดได้ ) โดนผิวหนัง (ห้ามใช้มือหยิบเกล็ดหรือผลึกขึ้นมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมือชื้นหรือเปียก)  หลีกเลี่ยงการได้รับสารเป็นเวลานานหรือซ้ำหลายครั้ง

แม้ว่าด่างทับทิมจะมีประโยชน์มากมาย แต่หากใช้ได้ไม่ถูกต้องอาจทำ ให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษต่อร่างกายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นผู้ใช้จะต้องใช้อย่างเข้าใจ และระมัดระวัง ผลข้างเคียงจากการใช้ด่างทับทิมมีหลายประการ และอันตรายถึงชีวิตทีเดียว  

จึงขอเตือน และยืนยันว่าน้ำยาอุทัยทิพย์ ไม่ใช่ด่างทับทิม และใช้แทนกันไม่ได้ ห้ามดื่มน้ำด่างทับทิม และน้ำยาอุทัย ก็ไม่สามารถใช้ฆ่าเชื้อโรคได้  ดังนั้นหากจะดื่มน้ำในช่วงนี้โดยการเติมด่างทับทิม อันตรายนะคะ
http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Trf/msdst/msdst7722-64-7.html

อ่านรายละเอียดของ ด่างทับทิม อันตราย และการใช้ให้ปลอดภัยได้เร็วๆนี้ค่ะ
  อ่านต่อ http://meepole.blogspot.com/2011/10/blog-post_28.html