Saturday 25 February 2012

รู้หรือไม่ว่า..อันตราย!!

ที่มาภาพ : imagesante.be

  • ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาได้รณรงค์เพื่อยกเลิกการใช้น้ำยาซักผ้าขาว เนื่องจากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มของมะเร็งเต้านมในผู้หญิง การลดลงของสเปิร์มในผู้ชาย และความผิดปกติในการเรียนรู้และพฤติกรรมในเด็ก
  • สมาคมโรคปอดและโรคหอบหืดของแคนาดาพบว่า สารเคมีที่ใช้ความสะอาดภายในบ้านและเครื่องสำอางเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญของโรคหอบหืด
  • น้ำยาล้างเล็บส่วนใหญ่มี อะซีโตน หรือ เอธิลอะซีเตท เป็นตัวทำละลายตัวอื่นอีก เมื่อกินเข้าไป อะซีโตนจะถูกดูดซึมจากกระเพาะและเยื่อเมือก ทำให้เกิดการระคายเคืองเฉพาะที่ อาเจียนและการกดระบบประสาท
  • เรารู้หรือไม่ว่าน้ำยาทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์ที่ใช้เกี่ยวกับร่างกาย สารพิษที่ออกมาในอากาศในรูปของไอหรือละออง ที่เราใช้กันอยู่นั้น เด็กๆ มีโอกาสรับเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากสารพิษพวกนี้จะมีน้ำหนักมากและลอยอยู่ใกล้พื้นมากกว่า
  • ตัวทำละลาย เช่น Formaldehyde, phenol, benzene, toluene และ xylene พบในสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดภายในบ้าน เครื่องสำอาง เครื่องดื่มที่มีสีผสม ผ้าที่มีน้ำยารักษาผ้าหรือน้ำยาทำความสะอาด และ ควันบุหรี่ ทำให้เกิดมะเร็งและเป็นพิษต่อระบบภูมิคุ้มกัน
  •  น้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอกบางชนิดจะมีสารเคมี ได้แก่ แนฟธา (naphta) ซึ่งกดระบบประสาท สารไดเอธาโนลามีน (diethanolamine) มีอันตรายต่อตับ
  • ข้อมูลที่ได้จากประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าสารเคมีที่อยู่ในบ้านกว่า 150 ชนิด ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ความพิการของเด็กเมื่อคลอดออกมา รวมถึงโรคมะเร็ง และสุขภาพจิตผิดปกติ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีการได้รับสารพิษพวกนี้สะสมเข้าไป
จริงอยู่สารเคมีทุกชนิดเป็นอันตราย แต่ถ้าเราใช้ให้ถูกขนาด ถูกวิธี ก็จะลดอันตรายเหล่านั้น และสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องสารเคมีอันตรายที่มีในผลิตภัณฑ์หลากหลายที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อสามารถเลือกใช้ให้ปลอดภัยมากที่สุด แต่วิธีที่ดีที่สุดคือพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้ ถ้าไม่จำเป็น หรือเลือกใช้สารที่ปลอดภัยกว่าทดแทน (ปัญหาคือ ถ้าไม่ไช่นักเคมี หรือนักวิทย์ฯจะรู้ได้ยังไงว่าสารตัวไหนอันตราย..อันนี้ไม่ยากสงสัยอะไร คนไทยเข้าที่นี่เลยค่ะ 
ศูนย์ความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี http://www.chemtrack.org/   meepole ก็ใช้บริการที่นี่ประจำค่ะ:)

    Sunday 12 February 2012

    ส้วมไฮเทค..อ่านก่อนซื้อ

                                 by meepole
    ที่มาภาพ: fractiousllama.typepad.com

    เมื่อวานเข้าไปอ่านบล็อกของเพื่อนจากแดนไกล เรื่อง "ห้องน้ำ ห้องท่า " เป็นเรื่องของ "ส้วมไฮเทคฯ" อ่านแล้วให้เกิดความขยอง (ขยาด+สยอง) ตามจินตนาการของ meepole ที่ค่อนข้างคิดลบกับเชื้อโรค เห็นอะไรก็อดคิดๆโยงเข้าไปถึงความสะอาด และการติดเชื้อแบบไม่คาดคิด ซึ่งตอนนี้มีมากจนน่ากลัวทีเดียว หากใครได้เคยรู้ความจริงหรือสังเกตุดูว่าคนปัจจุบันป่วยด้วยโรคหนึ่ง จะส่งรพ.หรือไม่ก็ตาม แต่ตอนตายมักจะตายด้วยการติดเชื้อ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า เชื้อโรคมีทุกหนแห่ง เมื่อใดที่ร่างกายมีช่องเปิดให้เข้าก็เข้าได้ เมื่อร่างกายอ่อนแอก็ติดเชื้อง่ายขึ้น แพร่กระจายไปรวดเร็วกว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงอันเกี่ยวเนื่องจากภูมิต้านทานและเม็ดเลือดขาว ทุกวันที่เราต้องได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายมากบ้างน้อยบ้าง อันตรายบ้าง อันตรายน้อยบ้าง ร่างกายก็จะส่งทหารเอกมาปราบ รบชนะเราก็ปกติสุข รบแพ้เราป่วย ขณะรบบางทีก็มีอาการไข้ ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัวให้สังเกตุ ลองคิดดูว่าร่างกายเราต้องเสียทหารป้องกันสู้เชื้อในแต่ละวันมากน้อยแค่ไหน เสียพลังงานไปมากเพียงใด เราจึงควรหาทางป้องกัน หลีกเลี่ยงการสูญเสียทหาร เสียพลังงานเหล่านั้น แถมทำให้ร่างกายเราทรุดโทรมเร็ว อ่อนแอลง  ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นหากเราตระหนักตลอดเวลา เพื่อถนอมสุขภาพ การจะใช้ผลิตภัณฑ์ใด ที่มีการผลิตออกมาตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ชอบเครื่องทุ่นแรง ลดเวลา เพิ่มความสะดวกสบาย ควรต้องคิดพิจารณาสักนิดว่ามันจำเป็นจริงๆนะหรือที่ต้องใช้ มันน่าจะมีผลดี ผลเสียที่จะตามมาอะไรบ้าง หาข้อมูลให้รอบตัวก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ สินค้าไม่หมดตลาดง่ายๆหรอก ...

    เรื่องส้วมไอเทคประเภทอัตโนมัติทุกอย่าง ยกเว้นอย่างน้อยต้องใช้มือเรากดปุ่ม ยังไม่ได้สั่งด้วยเสียง (อนาคตคงมี) เมื่อเดือนที่แล้วไปเดินโฮมโปรก็เห็นเจ้าชักโครกแบบดังกล่าวแล้วมีปุ่มฉีดล้าง ปุ่ม.. และปุ่ม..เพื่อนกลุ่มที่ไปด้วยก็ทดลองเล่น หาความรู้ หัวเราะกันแต่ไม่มีใครคิดจะซื้อเลยไม่ได้ดูราคา ไม่ได้คิดมาก หากจะคิดซื้อคงคิดอะไรๆมากกว่านี้ แต่ตอนนี้สนุกสนานขำ function ของมัน

    เครื่องถัดมาที่มีข่าวตอนใหม่ๆทุกคนตื่นเต้นสนุก เริ่มเอามาใช้ก็ที่โรงแรมหรูๆก่อน หลังจากนั้นก็มีใช้ทั่วไปตอนนี้ในส้วมสาธารณะก็มีใช้แล้ว คือ "เครื่องเป่าลมให้แห้ง" ใช้หลังจากล้างมือเสร็จ เอามือไปรอง ลมอุ่นๆจะพ่นออกมา ตอน meepole สอนนักศึกษารุ่นแรกๆที่มีข่าวการใช้เครื่องนี้ เคยบอกเขาว่าอีกไม่นานคนจะเลิกใช้กันไปเอง เพราะจะเป็นตัวแพร่เชื้อได้ดี เพราะพ่นกระจาย เวลาเอามือไปรองให้ลมผสมเชื้อพ่นใส่มือที่อุตส่าห์ล้างจนสะอาดแล้ว เมื่อ 6 ปีที่แล้ว meepole เคยให้นักศึกษาทำวิจัยเอาจานอาหารเลี้ยงเชื้อไปรองรับลมที่พ่นออกจากเครื่องดังกล่าว แล้วมาบ่มเพาะ นศ.ได้เห็นชัดเป็นประจักษ์แก่สายตาว่า อี๋! อึ๋ย!! เชื้อสารพัดเต็มจาน ยังมีการทดลองแบบอยากรู้ของ meepole อีกหลายชิ้นงาน วันดีๆค่อยเอามาลงให้อ่านอีก

    เรื่องของเครื่องเป่าลม ไม่นานมานี้ก็ได้มีงานวิจัยตีพิมพ์ออกมาถึงอันตราย ข้อควรระวังแบบที่ meepole เคยทดลองมาก่อน (มันเป็นงานเล็กๆ ง่ายๆ แต่หากคนไทยพูดเสียงมันเบา ต้องฝรั่งพูด คนไทยจะเชื่อ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ :) ลองอ่านดูในนี้นะคะเผื่อจะได้อย่างอื่นติดไปบอกต่อด้วย  http://www.th.kimberly-clark.com/thai/news-new-virus2.html

    เรื่องส้วมไฮเทคนี้คงอีกเป็นปี ต้องมีการใช้แพร่หลายก่อน แล้วไม่นานจะมีข่าวการติดเชื้อของส่วนล่าง ซึ่งแน่นอนว่าอันตรายกว่ามือเยอะเพราะบริเวณนั้นของคนมีช่องเปิด เนื้อเยื่อที่บอบบางต่อการติดเชื้อง่าย บางคนมีแผลไม่ว่าจากแผลริดสีดวง หรือหูรูดต่างๆหลังถ่าย หรือ... และหากเราไม่รักษาความสะอาดอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างระวังทุกครั้ง อาจทำให้คนต่อๆไปได้รับเชื้อ และลองคิดดูว่าหากส้วมนี้นำไปใช่ในที่สาธารณะมันจะน่าขยองเพียงใด บรื๋อ!!!

    meepole มองในแง่การติดเชื้อ เพราะจบด้านเชื้อมา แต่ก็มีอีกหลายมุมมองซึ่งหาอ่านต่อได้จากที่มิตรจากแดนไกล (คนบ้านไกล) ผู้จุดประกายการเขียนเรื่องนี้ได้จาก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/478386

    เรื่องนี้เป็นเพียงแง่คิดของ meepole ผู้ไกล้แก่เท่านั้น หากท่านใดยังคงสนใจจะซื้อสินค้าดังกล่าวก็แล้วแต่ความสบายใจ สบายกระเป๋า และมันอาจเหมาะสำหรับผู้ที่ร่างกายไม่สมบูรณ์จริงๆ ซึ่งก็อย่างที่บอกไว้ต้องเอาใจใส่ความสะอาดของอุปกรณ์ แต่หากตอนนี้ยังแข็งแรงปกติ ใช้อัตโนมือ น่าจะดีกว่า อย่างน้อยเก็บเงินไว้ซื้ออย่างอื่นที่จำเป็นกว่านะเอ่ย :) และหากวันใดที่ไม่อยากใช้แล้ว คงส่งต่อเป็นของมือสองไม่ได้ ก็เอาไปทำประโยชน์แบบที่เอารูปมาให้ดูข้างต้นได้เลยนะคะ



    ที่มาภาพ : bits-of-english.exteen.com

    Friday 3 February 2012

    ชีวิตเสี่ยงภัยเมื่อหมดโปรโมชั่น 2

    by meepole

    เด็กกับความเสี่ยงต่อภาวะพิษสารตะกั่ว (ต่อจากตอนที่แล้ว)

    เชื่อไหมว่าพ่อแม่ไม่มีรู้เลยว่าลูกน้อยได้รับพิษจากตะกั่วไปแล้วจนกว่าจะสายเกินแก้...
    เพราะเมื่อเด็กคนหนึ่งได้รับพิษจากสารตะกั่วไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ โดยหากเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากอาหารและน้ำดื่มเป็นระยะเวลานาน จะทำให้สมองมีการสูญเสียอย่างถาวร อีกทั้งพัฒนาการของเด็กจะยังคงล่าช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน แม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม

    ร่างกายจะสามารถดูดซึมสารตะกั่วจากทางเดินอาหารได้ร้อยละ 11 ในผู้ใหญ่แต่สำหรับเด็กจะดูดซึมได้ร้อยละ 30-75 จึงทำให้เด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ โดยไม่แสดงอาการใดๆให้เห็น และการวินิจฉัยภาวะตะกั่วเป็นพิษทำได้ค่อนข้างยากยาก

    เมื่อเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าไปแม้เพียงเล็กน้อยจะส่งผลอันตรายต่อการพัฒนาการของสมองทันที มีงานวิจัยพบว่าพิษจากสารตะกั่วมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สมองและระบบประสาทอย่างถาวรในเด็ก (Rogan et al, 2001) และ IQ จะลดลง 4.6 ถ้าระดับสารตะกั่วในเลือด น้อยกว่า 10 mcg/dLและลดลง 7.4 ถ้าระดับสารตะกั่วในเลือด มากกว่า10 mcg/dL ( Canfield et al, 2003)
    ที่มาภาพตะกั่ว images-of-elements.com

    แม้ว่าได้มีความพยายามที่จะลดสารตะกั่วออกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเช่น การใช้น้ำมันที่ปราศจากสารตะกั่ว การใช้ท่อประปาที่ทำจาก PVC การรณรงค์ไม่ซื้ออาหารที่บรรจุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นต้น แต่ก็ยังพบสารตะกั่วได้ในสิ่งแวดล้อม จากการตรวจเลือดเด็กในเมืองก็ยังพบสารตะกั่วในเลือดมากกว่าเด็กในชนบท จากงานวิจัยของ พญ จันทิมา ใจพันธ์และคณะ (2553) พบว่า 9.6% เด็กอายุ 2-6 ปี ในกรุงเทพมีระดับสารตะกั่วในเลือด มากกว่า 10 mcg/dL และพบว่า 27.4% ในเด็กอายุ 6-12 ในกรุงเทพมีระดับสารตะกั่ว ในเลือด มากกว่า 10 mcg/dL

    นอกจากนี้สารตะกั่วยังส่งผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ หากมีสารตะกั่วปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดแท้ง คลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองจะพัฒนาช้า ปัญญาอ่อน ชัก

    เด็กได้รับตะกั่วจากไหน
    มักจะพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วในอาหาร น้ำดื่ม และฝุ่นในอากาศ ภาชนะบรรจุ ของเล่นเด็ก สีผนังบ้าน ดินในสนามหรือสวน แม้กระทั่งในแป้งเด็กบางชนิด
    เนื่องจากพฤติกรรมของเด็กที่ใช้มือหยิบของเข้าปาก รวมถึงการมีกิจกรรมบนพื้นของเด็กที่มีการปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว จึงทำให้พบปริมาณสารตะกั่วสูงในเด็ก หรือกระทั่งอาศัยในบริเวณที่มีควันรถมาก 

    ดังนั้นการที่จะทำให้เด็กไทยพ้นภัยและห่างไกลจากพิษภัยของสารพิษจากพลาสติกและตะกั่วได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องทำให้พ่อ แม่และผู้ปกครอง เกิดความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจถึงพิษภัยต่างๆ ที่แฝงมากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก

    ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของตนเองอย่างเต็มความสามารถ เพื่อปกป้องบุตรหลานให้ปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและเติบโตสมวัย ไม่ไช่ทำเพื่อเรียกกระแส ตัดงบประมาณ รณรงค์เป็นคราวๆโดยไม่มีอะไรดีขึ้น   สำหรับเราผู้บริโภคต้องจำใส่ใจและตระหนักว่า

    ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ที่สำคัญพบว่าไม่มีระดับ สารตะกั่วในเลือดค่าใดที่ถือว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง  เพราะพิษตะกั่วที่มีผลต่อสมองจะเกิดอย่างถาวรแม้ว่าจะทำการรักษาแล้วก็ตาม

    หมายเหตุ  หน่วย  mcg/dL คือ ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร

    อ้างอิง:
    • พญ จันทิมา ใจพันธ์ และคณะกุมภาพันธ์ 2553. การศึกษาความเสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่วของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สังกัดของกรุงเทพมหานคร  มหาวิทยาลัยมหิดล
    • Banks, E. C., Ferretti, L. E., & Shucard, D. W. (1997). Effects of low level lead exposure on cognitive function in children: A review of behavioral, neuropsychological and biological evidence. NEUROTOXICOLOGY, 18(1), 237-282. 
    • Binns, Helen J. - Ricks, Omar Benton Helping Parents Prevent Lead Poisoning. ERIC Digest
    • Canfield RL, Henderson CR Jr, Cory-Slechta DA, Cox C, Jusko TA, Lanphear BP., 2003. Intellectual impairment in children with blood lead concentrations below 10 microg per deciliter, N Engl J Med.;348(16):1517-26.
    • Rogan, W. J., Dietrich, K. N., Ware, J. H., Dockery, D. W., Salganik, M., Radcliffe, J., Jones, R. L., Ragan, N. B., Chisolm, J. J., & Rhoads, G. G. (2001). The effect of chelation therapy with succimer on neuropsychological development in children exposed to lead. NEW ENGLAND JOURNAL OF MEDICINE, 344(19), 1421-1426. 
    • Yeoh B et al., 2009. Household interventions for prevention of domestic lead exposure in children, Cochrane summaries.